นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน สายงานวานิชธนกิจและตลาดทุน บล.ภัทร กล่าวว่า การกำหนดราคา IPO ของ SPRC ที่ 9 บาท/หุ้นนับว่าเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบัน และมีส่วนลดให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าหุ้น SPRC จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน หลังจากล่าสุดกองทุนต่างชาติ 2 รายเข้าทำสัญญาจะซื้อหุ้น IPO รวมจำนวน 30% ของส่วนที่เสนอขายต่างประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนรายอื่นให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนครั้งนี้ด้วย
สำหรับเม็ดเงินที่คาดว่าจะได้การจัดสรรหุ้น IPO ครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวม 15,600 ล้านบาท แบ่งการจัดสรรให้เบื้องต้นให้นักลงทุน 4 กลุ่ม ได้แก่ นักลงทุนสถาบันไทย ราว 4,600 ล้านบาท, นักลงทุนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่าย ราว 3,100 ล้านบาท, รายย่อยที่จองซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ราว 1,500 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 6,400 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยต่อสถาบัน 30:70 และคิดเป็นสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนไทย 40:60 ซึ่งเหมาะสมในภาวะตลาดปัจจุบัน
การขายหุ้น IPO ของ SPRC จะมีจำนวนไม่เกิน 1,735,315,500 หุ้น แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนของ SPRC ไม่เกิน 345,018,900 หุ้น, หุ้นสามัญเดิมที่ถือโดย PTT ไม่เกิน 1,390,296,600 หุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน(กรีนชู)จำนวนไม่เกิน 173,531,400 หุ้น โดยในส่วนกรีนชูคิดเป็นมูลค่าราว 1,560 ล้านบาท เพื่อใช้รักษาระดับราคาหุ้นหากราคาที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นต่ำกว่าราคา IPO ขณะที่ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายคือ SPRC และ PTT มีข้อตกลงตามสัญญาห้ามขายหุ้นเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งในส่วนของปตท.คือหุ้นกรีนชู
"เงินส่วนนี้จะใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น ภายหลังที่หุ้นเข้าไปในตลาดแล้ว การรักษาระดับราคาหุ้นจะทำอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะทำได้เมื่อราคาตกต่ำกว่าราคา IPO เท่านั้น และทำได้ในช่วงไม่เกิน 30 วันหลังจากวันแรกที่หุ้นเข้าเทรด โดยผู้ที่จะทำการรักษาระดับราคาครั้งนี้คือบล.ภัทร ภายใต้การหารือร่วมกันของอันเดอร์ไรต์เตอร์ทั้งหมดในครั้งนี้ ถ้า exercise option เราจะขอใช้สิทธิซื้อหุ้นจาก 2 ส่วนคือปตท.และบริษัท ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน...กรณีที่กรีนชู exercise ทั้งหมดปตท.ก็จะไม่มีสัดส่วนถือหุ้นเหลืออยู่ แต่ถ้ากรีนชูทำงานไม่หมดหรือบางส่วน ปตท.ก็จะมีสัดส่วนเหลืออยู่ไม่เกิน 1.9%"นายอนุวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบัน SPRC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1.65 แสนบาร์เรล/วัน โดยมีกลุ่มเชฟรอน ถือหุ้น 64% และ PTT ถือหุ้น 36% โดยการขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,735,315,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 6.92 บาท/หุ้น วัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อชำระคืนภาระทางการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่ง PTT มีความต้องการขายหุ้น SPRC ออกทั้งหมดเพื่อลดข้อกล่าวหาการผูกขาดในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โดยการขายหุ้น IPO ของ PTT ครั้งนี้คาดว่าจะได้รับเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
SPRC มีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น ประกอบด้วย บล.บัวหลวง,บล.ฟินันซ่า ,บล.ภัทร และบล.ไทยพาณิชย์ สำหรับรายย่อยสามารถจองซื้อหุ้นได้ที่ตัวแทนจำหน่าย 4 ธนาคารหลัก ได้แก่ ธ.กรุงเทพ(BBL) ,ธ.กรุงไทย(KTB),ธ.กสิกรไทย (KBANK) และธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ย.นี้ และคาดว่าหุ้น SPRC จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้
ด้านนายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่บริหาร-ผู้จัดการฝ่ายการเงินและการคลัง SPRC กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจในพื้นฐานของบริษัทแม้หุ้นจะเข้ามาทำการซื้อขายในช่วงภาวะตลาดที่ผันผวนอยู่ในขณะนี้ก็ตาม แต่มองว่าภาวะตลาดเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าค่าการกลั่น(GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในปีนี้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ทำได้ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ที่ระดับ 9.95 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากการลงทุนราว 140 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปีที่ผ่านมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นหนุนค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นราว 50 เซนต์/บาร์เรล ประกอบกับการซื้อน้ำมันดิบจากอ่าวไทยแบบมีส่วนลด ทำให้ช่วยเพิ่มมาร์จิ้นได้จากระดับปกติด้วย
นอกจากนี้การที่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทสามารถกลั่นน้ำมันเบนซินได้ในระดับสูงนั้น ขณะที่ความต้องการเป็นจำนวนมากของตลาดโลกและในประเทศนั้น ส่งผลให้ค่าการกลั่นของน้ำมันเบนซินสูงกว่าค่าการกลั่นของน้ำมันดีเซล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทด้วย รวมถึงในปีที่ผ่านมาบริษัทได้หยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมันไปแล้ว ก็จะสามารถกลั่นน้ำมันได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดซ่อมบำรุงไปอีก 5 ปี
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับต่ำขณะนี้จะกระทบต่อการขาดทุนสต็อกน้ำมันบ้าง โดยในไตรมาส 3/58 มีผลขาดทุนสต็อกราว 95 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นผลกระทบทางบัญชีเท่านั้น เพราะค่ากลั่นซึ่งเป็นมาร์จิ้นที่ได้รับอยู่ในระดับสูง โดยผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัททำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้มีการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 95% ของกำไรสุทธิ และตั้งเป้าหมายที่จะจ่ายปันผลในช่วงครึ่งปีหลังที่ระดับ 95% ของกำไรสุทธิเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นการจ่ายปันผลก็จะเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ สำหรับความกังวลต่อการที่ PTT จะขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทจะกระทบต่อสัญญาการจัดหาและรับซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือไม่นั้น นายวิชัย เชื่อว่าบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดและเชื่อว่าความต้องการใช้เบนซินจะยังคงมีอยู่ต่อไป ทำให้ PTT ก็ยังคงมีความต้องการน้ำมันเบนซินอยู่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทราว 90% เป็้นการขายในประเทศ โดยมีเชฟรอน และ PTT เป็นลูกค้ารายใหญ่
นายวิชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทในจ.ระยอง ยังมีพื้นที่เหลือเพียงพอรองรับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันได้อีก 1 แห่ง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะยังไม่มีการพิจารณา เพราะขณะนี้กำลังการผลิตในประเทศเกินความต้องการอยู่ราว 1.0-1.5 แสนบาร์เรล/วัน แต่การมีพื้นที่เหลือก็เป็นโอกาสในการพิจารณาลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่มีความต่อเนื่องในอนาคต โดยจะต้องเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนการลงทุน(IRR)เกิน 20%
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO ในส่วนของบริษัทครั้งนี้กว่า 3 พันล้านบาทนั้นจะใช้ในการปรับโครงสร้างเงินทุน ด้วยการชำระคืนภาระทางการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ นายวิชัย กล่าวว่า หลังเข้าตลาดหุ้นคาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้ไม่เกิน 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทยอยชำระคืนภายใน 2-3 ปี