"เนื่องด้วยราคาน้ำมันที่ลดลงดังกล่าวและมีแนวโน้มที่อาจฟื้นตัวช้า ดังนั้น ปตท.สผ.จึงรับรู้ด้อยค่าสินทรัพย์จำนวน 49,893 ล้านบาท ซึ่ง ปตท. ในฐานะบริษัทแม่ที่ถือหุ้น 65% ทำให้ต้องรับภาระการด้อยค่าทางบัญชีเช่นกัน ทำให้กำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อยในงวด 9 เดือนนี้ มีจำนวน 19,748 ล้านบาท ลดลง 64,737 ล้านบาท หรือลดลง 76.6% จาก 84,485 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวของปีก่อน ทั้งนี้ผลประกอบการดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและกระแสเงินสดของปตท."นายวิรัตน์ กล่าว
นายวิรัตน์ กล่าวว่า หากไม่รวมผลการด้อยค่าทางบัญชี ผลประกอบการของ ปตท.และบริษัทย่อยในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มีจำนวน 55,891 ล้านบาท ลดลง 29,339 ล้านบาท หรือลดลง 34% จาก 85,230 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวของปีก่อน ขณะที่มีปริมาณการขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงมาก ส่งผลให้รายได้จากการขายจำนวน 1,557,327 ล้านบาท ลดลง 23.6% จากงวดปีก่อน ในขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 219,079 ล้านบาท ลดลงเพียง 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 47.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปตท. สามารถรักษาระดับการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูได้จากปริมาณการขายที่ยังคงเพิ่มขึ้น ช่วยให้ EBITDA ลดลงเพียง 8.8%"นายวิรัตน์ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/58 ปตท.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 26,582 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 26,590 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากกำไรสุทธิ 23,746 ล้านบาทในไตรมาส 2/58 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ PTTEP อีกทั้งราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอ้างอ้าง ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน ส่งผลให้งวดนี้มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน รวมทั้งผลต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ นอกจากนั้นค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 57 ส่งผลให้กลุ่มปตท.มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ