ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม) อยู่ที่ 100.12 (ช่วงค่าดัชนี 0 - 200) ปรับตัวลดลง 1.34% จากดัชนีในเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 101.48 โดยดัชนีในแต่ละกลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 75.01% อยู่ที่ 100.00 (ปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 เดือน) จนอยู่ในกรอบทรงตัว (Neutral) ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงเล็กน้อย 6.48% หรือ 100.92 (Neutral)
นักลงทุนมองว่าหมวดอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจ มากที่สุด คือ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ส่วนหมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ มากที่สุด คือ เหล็ก (STEEL) ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยเชิงลบที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) การผ่อนคลายมาตรการเชิงนโยบาย(QE) การชะลอตัวของเศรษฐกิจของจีน ราคาน้ำมันตลาดโลก อัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงิน และปัญหาการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศ เช่น นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริโภคภาคครัวเรือน การส่งออก และแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศจากกองทุนรวม เป็นต้น
ด้านนายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีแรงผลักไปยังธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ามานาน ด้านธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
ปัจจัยเสี่ยงยังอยู่ที่ความผันผวนในตลาดการเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่น สวนทางกับเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่แผ่วลง นอกจากนั้น แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยังสวนทางกับธนาคารกลางส่วนใหญ่ที่ยังใช้นโยบายผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพภายนอกของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุล รวมถึงทุนสำรองในประเทศ ยังคงแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าเงินทุนจะยังคงไหลออกจากตลาดการเงินของไทยตั้งแต่กลางปี 2556 ก็ตาม
ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นไทยแม้ว่าจะถูกกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ แต่มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากระดับการถือครองหุ้นของผู้ลงทุนต่างชาติลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินไทยยังคงล้น อีกทั้งเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ รวมถึงจากกองทุน LTF และ RMF อีกด้วย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยถึง แนวโน้มดัชนีในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,450 จุด พร้อมทั้งคาดใน 6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากทั้งภายในและภายนอก เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯ ประกอบกับ ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน ยุโรป ญี่ปุ่น จะมีนโยบายทางการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
แต่ทั้งนี้รัฐบาลไทยจะต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การบรรจุแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับเอกชน (PPP) ใน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ของประเทศด้านเศรษฐกิจ หรือบรรจุในบทเฉพาะการในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะให้เอกชนมั่นใจว่าจะมีการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะ PPP ต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่
"ผมมองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า ดัชนีก็คงจะกลับมาฟื้นตัวได้ จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐฯก็ต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก่อน เช่น การเร่งให้โครงการ PPP เกิดขึ้นซัก 1-2 โครงการก่อน ซึ่งหากมีความชัดเจนเกิดขึ้น ก็จะทำให้ความมั่นใจตามมา ถ้าเป็นแบบนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทุนต่างชาติเลย เราเชื่อว่ากลับมาแน่นอน เพราะปัจจุบันเงินทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยแทบจะไม่เหลือแล้ว"นายไพบูลย์ กล่าว