ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency IDR) ของ SCBT ที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงอยู่ด้านท้าย
การประกาศอันดับเครดิตนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ฟิทช์ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสุกลเงินต่างประเทศของ Standard Chartered Plc (SC) เป็น ‘A+’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ลำดับสูงสุดของ SCBT เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายงาน Fitch downgrades Standard Chartered to ‘A+’, Maintains Negative Outlook ที่ www.fitchratings.com)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SC อยู่หนึ่งอันดับซึ่งเป็นการพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่ม SC เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่ม SC ดังนั้นการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SC จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SC
อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับเครดิตของ SC ไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘A-’ อันดับเครดิตสนับสนุนได้รับการคงอันดับเครดิตเนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากกลุ่ม SC ในกรณีที่มีความจำเป็น
อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCBT ได้รับการคงอันดับเนื่องจากฐานะทางการเงินของธนาคารซึ่งสะท้อนโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ ‘A’ ยังคงแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘A-’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ สอดคล้องกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวเช่นกัน
ฟิทช์มองว่า SCBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่ม SC โดยพิจารณาจากการที่ SC มีสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT ที่ 99.87% (ผ่านธนาคาร Standard Chartered) ความเชื่อมโยงในการดำเนินงานระหว่าง SCBT กับธนาคารแม่ที่อยู่ในระดับสูงและการให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินแก่ SCBT มาอย่างต่อเนื่องในอดีต นอกจากนี้ SCBT ยังถือเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในระยะยาว โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศและการขยายเครือข่ายทางธุรกิจของกลุ่ม SC ไปยังกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน(Viability Rating) ของ SCBT สะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ถือว่าอยู่ในระดับสูงของธนาคาร ในด้านฐานะเงินกองทุนและอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพสินทรัพย์
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารที่น่าจะยังคงอ่อนแอในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองและยังได้รับแรงกดดันในด้านรายได้ดอกเบี้ยรับจากการชะลอตัวของสินเชื่อ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต –อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลของ SC อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวซึ่งปัจจุบันถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ ‘A-’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ และอันดับเครดิดภายในประเทศระยะสั้นของ SCBT ที่ ‘F1+(tha)’ เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตในประเทศและอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดอันดับหากสถานะทางการเงินของ SCBT ด้อยลงจนอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของ SCBT ถูกปรับลดลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ ‘A-’
การปรับตัวลดลงของแนวโน้มที่กลุ่ม SC จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งอาจแสดงได้จากการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT อย่างมีนัยสำคัญ) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น การเปลี่ยนแปลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ฟิทช์มองว่าโอกาสในการปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินมีค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลาง เว้นแต่ธนาคารจะมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและระดับเงินกองทุนลดลงอย่างมากอาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวปรับลดอันดับเป็น ‘A’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ จาก‘A+’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1’ - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bbb’ - อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘1’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’ -อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’