ขณะที่บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายถ่านหินปีหน้าจะต่ำกว่าปีนี้ที่น่าจะทำได้ 41.7 ล้านตัน หลังจากประเมิว่าว่าอินโดนีเซียจะมีการผลิตถ่านหินลดลง เนื่องจากเหมืองขนาดเล็กประสบภาวะขาดทุน ส่งผลต่อคุณภาพของถ่านหิน และเกิดแรงกดดันต่อตลาด ขณะที่จีนจะมีการนำเข้าลดลงราว 70 ล้านตัน จากเดิม 230 ล้านตัน และอินเดียก็น่าจะนำเข้าในปริมาณทรงตัวจากปีนี้ อีกทั้งการส่งออกถ่านหินของบริษัทก็ปรับลดลงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามคาดว่าความต้องการใช้ถ่านหินของโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 3% จากปริมาณการใช้ที่ 900 ล้านตัน
นางสมฤดี กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในปีนี้บริษัทยังไม่มั่นใจปีนี้จะมีกำไรสุทธิหรือไม่ หลังจากช่วง 9 เดือนแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 9 เดือน 57.34 ล้านบาท และยังต้องติดตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ขณะที่คาดว่า EBITDA ปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ในระดับ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวลดลง โดยคาดราคาถ่านหินในปีนี้จะอยู่ที่ 57-58 เหรียญ/ตัน และเหมืองที่ออสเตรเลีย ได้หยุดทำการไป 1 เดือน เพื่อรอใบอนุญาตให้ดำเนินการผลิตต่อ จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตที่ไม่เต็มที่
ประกอบกับ ในไตรมาส 3/58 บริษัทมีค่าใช้จ่ายค่าซ่อมแซมโรงไฟฟ้าของ BLCP ส่งผลทำให้กำไรลดลงราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงบริษัทได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทที่มาจากการกู้เงินมาใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าหงสา ทำให้มีการบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และปีนี้ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยังคงเดินหน้าแผนการนำบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/59 เพื่อนำเงินระดมทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้นับ 1 แบบแสดงรายการข้อมูลหรือไฟลิ่งแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทฯตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในปี 68 จะเพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการลงทุนจากทุกโครงการที่กำลังเดินหน้าตามแผน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯสนใจทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน และพลังงานทดแทน พื้นที่ที่สนใจลงทุน เช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จีน และญี่ปุ่น
เบื้องต้นภายในปี 63 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 2,400 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการลงทุนจากทุกโครงการที่กำลังเดินหน้าตามแผน โดยโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้า SLG ในจีน กำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 30% คาดว่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เต็มที่กลางปี 60 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 82 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 40% คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์กลางปี 60 เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจเข้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ขนส่ง ไฟฟ้าทั้งหมดที่เกียวข้องกับธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นโอกาสต่อยอดในการเติบโต โดยล่าสุดบริษัทได้มีทีมงานทดลองแปลงถ่านหินเป็นน้ำมันที่ประเทศมองโกเลีย เป็นอีกหนึ่งแผนที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าถ่านหินแต่ต้องหาตลาดฯรองรับ ซึ่งแผนงานดังกล่าวอยู่ในแผน5 ปี(59-63)ที่บริษัทฯอยู่ระหว่างจัดทำ ทั้งในด้านโครงการแผนลงทุน เงินลงทุน ซึ่งจะเปิดเผยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 59
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ระยะยาว มูลค่า 3-5 พันล้านบาท ในไตรมาส 4/58 โดยจะใช้สำหรับคืนเงินกู้ราว 70-80% ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะใกล้เคียงกับหุ้นกู้ที่เคยเสนอขายก่อนหน้านี้ราว 4% ซึ่งต้องดูภาวะดอกเบี้ยในขณะนั้นด้วย