PTTGC คาดกำไรปี 59 ดีกว่าปีนี้จากกำลังผลิตเพิ่ม แม้ปิดบำรุงโรงกลั่น-โอเลฟินส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 17, 2015 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดกำไรปี 59 จะดีต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไรสูงกว่าปีก่อน จากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น 7% จากปีนี้ ขณะที่ส่วนต่าง(สเปรด)ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังอยู่ระดับที่ดี แม้จะมีกำหนดหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันและโรงโอเลฟินส์ 1 แห่งก็ตาม ขณะที่เดินหน้าต่อยอดขยายงานในพื้นที่มาบตาพุดตามโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ (Map Ta Phut Retrofit) อีกราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐที่จะสรุปแผนเบื้องต้นในปลายปีนี้

ด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่ากำไรมีโอกาสสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทในปีก่อน หลังจากช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิแล้ว 1.58 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4 ราคาเม็ดพลาสติกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ขณะที่บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันดิบไว้ราว 60% ของสต็อกน้ำมัน หากราคายังอยู่ในระดับ 42-43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็มีโอกาสที่จะมีกำไรจากการทำประกันความเสี่ยงด้วย

ส่วนปีนี้จะมีกำไรหรือขาดทุนจากสต็อกน้ำมันนั้นยังต้องรอดูราคาน้ำมันดิบที่ปิดทำการในวันสุดท้ายของปีด้วย แต่ตามปกติคาดว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะฟื้นตัวได้จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี นอกจากนี้ยังมองว่าค่าเงินบาท/ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเป็นผลประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่า เพราะบริษัทมีรายรับส่วนใหญ่เป็นรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ

นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมผู้จัดการใหญ่ PTTGC คาดว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นในปีหน้าเป็นผลจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์โดยรวมจะเพิ่มขึ้น 7% จากการลงทุนขยายกำลังการผลิตก่อนหน้านี้ 520 ล้านเหรียญสหรัฐใน 3 โครงการที่จะแล้วเสร็จในต้นปี 59 ได้แก่ เอทิลีนออกไซด์ กำลังผลิตเพิ่ม 9 หมื่นตัน/ปี, ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ โดยเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน อีก 1.15 แสนตัน/ปี และเบนซีน 3.5 หมื่นตัน/ปี ,โครงการขยายกำลังการผลิตฟีนอล 2.5 แสนตัน/ปี ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะฟื้นตัวจากปีนี้มาที่ระดับไม่ต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าสเปรดโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง(HPDE) จะอยู่ที่ราว 700 เหรียญสหรัฐ/ตันทรงตัวจากปีนี้ ขณะที่ราคาเม็ดพลาสติกยังคงแข็งแกร่งจากความต้องการใช้ที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนนี้จะช่วยชดเชยการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน 1 แห่ง และโรงโอเลฟินส์ 1 แห่งในปีหน้าได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-40 วัน

"สถานการณ์ตลาดในปีหน้าไม่ได้ดีกว่าปีนี้ แต่เรามี expansion 3 โรงเดิม และปตท.ยังได้ส่งก๊าซฯจากโรงแยกก๊าซฯมาให้เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการผลิตของกลุ่ม แม้เราจะมี shut down โรงกลั่น และโรงโอเลฟินส์ก็ตาม ซึ่งโรงโอเลฟินส์เรามี 4 โรง แต่ละโรงหยุด 4 ปีหน ปีหน้าก็จะหยุด 1 โรง 30 กว่าวัน"นายปฎิภาณ กล่าว

นายปฏิภาณ กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 59-63) ที่ระดับ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนตามแผนงานสำคัญในอนาคต เบื้องต้นมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ มูลค่าราว 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ, โครงการ PO/Polyol ในมาบตาพุด มูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการ Map Ta Phut Retrofit มูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะใช้เงินกู้โครงการ (project finance) และเงินลงทุนของบริษัท

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า โครงการ Map Ta Phut Retrofit จะเป็นการศึกษาการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ โดยจะนำแนฟทาที่ผลิตได้ราว 1.4 ล้านตัน/ปีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากปัจจุบันที่จำหน่ายให้กับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ราว 80% และส่งออก 20% ก็จะนำมาใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งจะทำให้ไม่มีแนฟทาเหลือส่งให้กับ SCC ซึ่งเป็นสัญญาขายปีต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่จะลดลงในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีแผนจะปรับเปลี่ยนโรงโอเลฟินส์บางโรงที่ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบมาใช้แนฟทา ขณะเดียวกันก็จะขยายกำลังการผลิตแบบคอขวด(debottleneck) ของโรงโอเลฟินส์ที่ใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบหลักขนาด 1 ล้านตัน/ปี อีกราว 30% หรือ 3 แสนตัน/ปี เพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯส่วนเพิ่มที่จะมาจากโรงอื่นที่หันไปใช้แนฟทาแทน เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปได้สิ้นปีนี้

หลังจากนั้น จะนำไปศึกษาต่อว่าโรงโอเลฟินส์ที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบนั้นจะได้ผลิตภัณฑ์ใดออกมาได้ และจะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ในขั้นปลายอย่างใด รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจริง คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในราวไตรมาส 3/59 หลังจากนั้นจึงจะเริ่มลงทุน และคาดว่าจะมีการผลิตเอทิลีนจากโรงโอเลฟินส์ที่เพิ่มขึ้นในราวปลายปี 62 ถึงต้นปี 63 ขณะเดียวกันก็จะทำการศึกษาต่อยอดผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายอื่น เช่น โพลีโพรพิลีน (PP) ,สไตรีน โมโนเมอร์ (SM) ,ABS/SAN เป็นต้น คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนได้ในกลางปีหน้า

"การผลิตจาก gas base ยัง competitive อยู่ดี แต่การขยายกำลังการผลิตด้วย gas ไม่สามารถทำได้เพราะ gas ใกล้จะหมด และผลิตภัณฑ์ที่ได้จะอยู่ในกลุ่มเอทิลีน พวก PE ,EO/EG ส่วนแนฟทา แครกเกอร์ แม้จะ competitive แต่ก็สู้ gas ไม่ได้ แต่ก็ได้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องรักษาพอร์ตให้เหมาะสม ก็จะส่งเสริมความสามารถโดยรวมได้ดี"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ และโครงการ PO/Polyol คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ในราวกลางปี 59 โดยโครงการ PO/Polyol หากมีการลงทุนก็คาดว่าจะได้ผลผลิตในช่วงปลายปี 62 ถึงต้นปี 63

นอกจากนี้ในส่วนการลงทุนโครงการ HDI Derivative ในไทย ซึ่งนำสารตั้งต้นจาก Vencorex มาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในฝรั่งเศส จะแล้วเสร็จในปีหน้าด้วย ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิต HDI Derivative ในฝรั่งเศสจาก 2 หมื่นตัน/ปี เป็น 7 หมื่นตัน/ปี ก็จะแล้วเสร็จในปีหน้าเช่นกัน

นายสุพัฒน์พงษ์ ยังกล่าวอีกวา เหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงปารีสนั้น ไม่ได้กระทบต่อโรงงานของบริษัทร่วมทุนที่อยู่ในฝรั่งเศส เนื่องจากอยู่ห่างจากกรุงปารีสกว่า 100 กิโลเมตร แต่ก็ได้มีการประกาศมาตรการดูแลขั้นสูงสุดเพื่อรับมือหากมีปัญหาเกิดขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ