"โอกาสเติบโตผู้โดยสารมากอยู่ที่ Inter low cost ที่มาจากจีนเกาหลี ยังมีโมเมมตัมต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพระเอกของ Aero โดยปีนี้เติบโตไม่น่าจะน้อยกว่า 20% ส่วนรายได้จาก Non-aero จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์จากสนามบินภูเก็ต และดอนเมือง"นายนิตินัย กล่าว
ทั้งนี้ ในงวดปี 59 ท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มอีกกว่า 13,000 ตร.ม.จากการเปิดอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2,500 ล้านบาท/ปี จากเดิมมีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1,300 ล้านบาท/ปี ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตคาดจะเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในเดือนพ.ค.-มิ.ย.59 ซึ่งจะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 6,600 ตร.ม.จากเดิมราว 1,000 ตร.ม.
นายนิตินัย กล่าวว่า คณะกรรมการรับทราบการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 2 ของท่าอากาศยานดอนเมืองที่มีความก้าวหน้า 91.55% คาดว่าเสร็จในปลายเดือนพ.ย. ถึง ธ.ค.58 และการตั้งร้านค้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์บนพื้นที่ 13,000 ตร.ม.นั้น ขณะนี้มีร้านค้าอยู่ระหว่างติดตั้ง 8,800 ตร.ม. หรือ 64% จากผู้ประกอบการ 111 ราย ซึ่งฝ่ายบริหารจะประเมินสถานการณ์ความพร้อมของเปิดให้บริการในการประชุมคณะกรรมการวันที่ 2 ธ.ค.นี้
เบื้องต้นจะมีสายการบิน จำนวน 4 สายการบินย้ายมาให้บริการ ณ อาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยสมายล์ โดยท่าอากาศยานดอนเมืองได้จัดแผนเตรียมความพร้อมการปฎิบัติงาน และโยกย้ายการปฎิบัติงานบางส่วน พร้อมทั้งสร้างความคุ้นเคย(Familiarization Programme) ร่วมกับส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง และสายการบินเป็นประจำทุกสัปดาห์ตลอดเดือน พ.ย. 58 เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนงานต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
"ปัจจุบัน ท่าอากาศยานดอนเมืองมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 90,000-93,000 คน หรือ แต่ละปีมีผู้โดยสารในประเทศ 20 ล้านคน ผู้โดยสารต่างประเทศ 9 ล้านคน และปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ยวันละ 650 เที่ยวบิน การเปิดใช้อาคารผู้โดยสารอาคาร 2 จะช่วยลดความหนาแน่นของปริมาณผู้โดยสารจากเดิมที่อาคารผู้โดยสารอาคาร 1 รองรับได้ปีละประมาณ 18 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 30 ล้านคน"นายนิตินัย กล่าว
นายนิตินัย กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเฟส 2 ว่า ตามแผนงานจะเริ่มประกาศประกวดราคา(TOR)งานก่อสร้าง 6 สัญญา โดยคาดว่า 2 สัญญาคืองานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน และงานเกี่ยวกับสาธารณูปโภคจะประกาศ TOR ได้ในเดือน ธ.ค.58 นี้ โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)
ส่วนอีก 4 สัญญา ได้แก่ ส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) ที่แตกออกจาก 2 สัญญา โดยแยกงานระบบรถไฟ ออกมาด้วยเหตุผลที่ต้องการต่อรองเจรจากับซัพพลายเออร์โดยตรง และงานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี นั้นได้แยกงานสายพานลำเลียงและจัดหาเครื่องตรวจวัตถุระเบิด เพราะต้องการเจรจากับซัพพลายเออร์โดยตรงซึ่งจะต้องรวมค่าซ่อมบำรุงรักษาอยู่ด้วยทำให้การประมูลล่าช้าออกไป เพราะต้องกลับไปให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พิจารณาก่อนแล้วส่งต่อที่กระทรวงคมนาคมจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป แต่เชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน คาดว่างานทั้ง 4 สัญญาจะเปิดประมูลได้ในไตรมาสแรกปี 59 หลังจากเปิด TOR คาดใช้เวลา 4 เดือนจะได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งนี้กำหนดการเปิดใช้บริการยังคงเดิมในปี 62
นอกจากนี้ AOT จะนำระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) มาให้บริการ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ในวันที่ 1 ธ.ค.58 ซึ่งระบบ APPS จะใช้ในการรับส่งข้อมูลผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งขาเข้า ขาออก และผู้โดยสารเปลี่ยนผ่านลำ (Transit /Transfer) โดยจะเริ่มตรวจสอบข้อมูลผู้โดยสารตั้งแต่ขั้นตอนการเช็คอิน ณ เคาน์เตอร์ออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) เมื่อผู้โดยสารทำการเช็คอินระบบจะทำการส่งข้อมูลมาตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หากพบว่าเป็นผู้โดยสารที่อยู่ในบัญชีผู้โดยสารต้องห้าม ระบบจะดำเนินการตอบกลับไปทันทีในลักษณะ Real Time ว่าไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศ รวมถึงช่วยลดขั้นตอนการตรวจลงตราของผู้โดยสารให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานสากลเทียบเท่าท่าอากาศยานชั้นนำของโลก เพื่อป้องกันการก่อการร้ายและเพิ่มความปลอดภัยในท่าอากาศยาน