นอกจากนี้ บริษัทยังหารือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในการนำคลื่นในส่วนที่บริษัทยังไม่ได้ใช้งานจำนวน 20 MHz เพื่อจะนำไปพัฒนาบริการในรูปแบบอื่น คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะได้ข้อสรุป
"เราคุยกับ CAT ตอนนี้มีความเข้าใจตรงกันแล้ว เหลือคุยกันในรายละเอียด คาดว่าเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุป"นายประเทศ กล่าว
ปัจจุบัน DTAC มีคลื่น 1800 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทาน จำนวน 45 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 61 แต่ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz ที่จัดขึ้นเมื่อ 11-12 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่มีลูกค้าใช้บริการ 4G จำนวน 1.9 ล้านราย จากลูกค้าทั้งหมด 25 ล้านราย และมีลูกค้าระบบ 2G อยู่ 3 ล้านราย
นายประเทศ คาดว่าจะมีลูกค้าย้ายเข้ามาใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้น เมื่อ DTAC ขยายบริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz นอกเหนือจาก 4G บนคลื่น 2100 MHz ที่เริ่มเปิดให้บริการเมื่อ พ.ค.58 และ 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่เปิดบริการเมื่อ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาและขยายไป 700 สถานีแล้ว และหากผู้ใช้ 2G ลดลงก็จะทำให้มี capacity เพียงพอที่จะพัฒนาระบบ 4G ได้ใกล้เคียงล่าสุดที่มีผู้ประมูลได้จำนวน 15 MHz
กรณี DTAC ยุติการแข่งขันราคาในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ นั้น เนื่องจากบริษัทประเมินมูลค่าใกล้เคียงกับราคาสุดท้ายที่ประมูลระดับ 17,500 ล้านบาท และแม้ว่าครั้งนี้จะประมูลไม่ได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานออกประมูล อาทิ คลื่น 2300 MHz , 2600 MHz , 700 MHz เป็นต้น เพราะการประมูลครั้งที่ผ่านมาได้รับความสนใจมากจากผู้ประกอบการจนทำให้ราคาพุ่งไปถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อใบอนุญาต
"ในเชิง valuation เราให้มูลค่าระดับหนึ่ง การประมูลไม่ใช่อยากได้ก็ต้องได้ ไม่ใช่อารมณ์ ถ้าแข่งได้ ทุกอย่างมีเหตุผล ถ้ามูลค่าเกินกว่าที่เราประเมิน เงิน 4 หมื่นล้านบาทจะเอามาจากไหน สุดท้ายถ้ามูลค่าคลื่นสูงเกินไปก็จะตกไปที่ลูกค้า"นายประเทศ กล่าว
นายประเทศ ยังเชื่อว่าการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ น่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันราคากันอย่างดุเดือดเช่นเดียวกัน