ขณะที่แนวโน้มการลงทุนปี 59 มองว่าดัชนีการลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,580 จุด จากผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินการเติบโตที่ 12% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 58
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามได้แก่ ปัญหาภัยแล้งในประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐพลิกตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะเงินทุนไหลออกจากการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market)
นางชวินดา กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในนโยบายการสร้างผลตอบแทนที่ดีและคุ้มค่าแก่กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยล่าสุดได้เปิดจำหน่ายกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ภายใต้ชื่อกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว ( KTLF) และกองทุนเปิดเคเทม เวิลด์ อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ( KT-WEQRMF)
กองทุน KTLF มีจุดเด่นจากการได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่การบริหารกองทุนจะใช้กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นในประเทศใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยประกาศใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อคนมีรายได้ต่ำ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนั้นยังลงทุนหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวการท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มขนส่ง การแพทย์ และหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่กองทุน KT-WEQRMF มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานทั่วโลก และมีการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 50% ของมูลค่าการลงทุน นอกจากนั้นยังได้รับอานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของหลายประเทศซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม บลจ.กรุงไทยแนะนำว่า ผู้ซื้อหน่วยลงทุนทั้ง LTF และ RMF ควรลงทุนแบบเฉลี่ยตันทุนดีกว่าการซื้อครั้งเดียวในช่วงปลายปี ด้วยการวางแผนการซื้อในจำนวนที่เท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ เช่นทุกเดือนจนครบตามจำนวนเงินที่ต้องการซื้อในหนึ่งปี เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการจับจังหวะการลงทุน และไม่ต้องกังวลการเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ทั้งนี้หากในภาวะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง ผู้ซื้อกองทุนประเภทนี้จะได้รับหน่วยลงทุนที่มากขึ้น กลับกันหากช่วงใดที่ดัชนีตลาดราคาสูงก็จะได้จำนวนหน่วยลงทุนน้อยลง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ได้ต้นทุนการลงทุนเฉลี่ยในระยะยาวต่ำกว่าต้นทุนตลาด