(เพิ่มเติม) "เถ้าแก่น้อย" เคาะราคา IPO ที่ 4 บ./หุ้น เปิดจอง 25-27 พ.ย.เทรด 3 ธ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2015 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 360 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 4 บาท โดยกำหนดเปิดจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย.นี้

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนระดมทุนด้วยการเสนอขาย IPO ให้กับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย จำนวน 360 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นหุ้นใหม่ทั้งหมด ที่ราคาหุ้นละ 4.00 บาท โดยมีแผนนำเงินไปใช้ขยายกิจการ ทั้งการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เพื่อรองรับยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีอัตรากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การซื้อเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยคาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงปลายปี 59

ทั้งนี้ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากบริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและสร้างให้ ‘เถ้าแก่น้อย’ ก้าวขึ้นเป็นแบรนด์ผู้นำระดับเอเชียภายใน 5 ปี และก้าวสู่การเป็นโกลบอลแบรนด์ภายใน 10 ปี โดยปัจจุบันเถ้าแก่น้อยเป็นผู้นำขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายอันดับ 1 ในไทยมาแล้วกว่า 10 ปี ด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 62% และส่งออกสินค้าไปจำหน่าย 35 ประเทศทั่วโลก

นายอิทธิพัทธ์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากการระดมทุน 1.44 พันล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นเงินที่ใช้สร้างโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 500 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 3,600 ตัน/ปี ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินที่ใช้ซื้อเครื่องจักรและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 ตัน/ปี และหากโรงงานแห่งให่แล้วเสร็จจะใช้กำลังการผลิตรวมเต็มที่เป็น 7,600 ตัน/ปี ภายในปี 60-61

“ในระยะ 2 ปีแรกการลงทุนใหม่อาจจะยังไม่เพิ่ม Gross Margin มากนัก แต่หลังจากนั้น Gross Margin เราจะเพิ่มประมาณ 2-3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35-38% เพราะว่าการลงทุนเครื่องจักรใหม่ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการตัดจำหน่ายค่าเลื่อมออกไป ทำให้ค่าเสื่อมลดลง"นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 59 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตมากกว่า 10% โดยบริษัทจะยังเน้นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศมากขึ้น โดยจะยังเน้นการทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศจีน จากปัจจุบันบริษัทมีการจัดจำหน่ายใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยการขยายตลาดในต่างประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเป้าเป้าหมาย 10 ปี (ปี 57-66) ที่บริษัทจะก้าวขึ้นเป็น Global Brand โดยจะมีสัดส่วนการขายในต่างประเทศเพิ่มเป็น 70-80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 55% และสัดส่วนการขายในประเทศจะอยู่ที่ 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 55%

นอกจากนี้บริษัทมั่นใจว่านักลงทุนจะให้ความสนใจหุ้น TKN เนื่องจากจุดเด่นของบริษัทเป็นแบรนด์ที่จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกตลาดสาหร่าย มีการเติบโตอยู่ตลอดเวลาจากการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“การเข้าตลาดไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเถ้าแก่น้อย แต่เป็นก้าวแรกที่จะทำให้เราก้าวต่อไปสูการเป็นเป็น Global Brand"นายอิทธิพัทธ์ กล่าว

TKN มีผลการดำเนินงานที่เติบโตโดดเด่น โดยล่าสุด ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ม.ค.-ก.ย.58 มีรายได้จากการจำหน่าย 2,519 ล้านบาท เติบโต 35% และมีกำไรสุทธิ 245 ล้านบาท เติบโตขึ้น 128% จากช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน ในขณะที่ปี 57 มีรายได้จากการจำหน่ายรวม 2,695 ล้านบาท กำไรสุทธิ 199 ล้านบาท และปี 56 มีรายได้จากการจำหน่ายรวม 2,716 ล้านบาท กำไรสุทธิ 128 ล้านบาท

ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายของ TKN กล่าวว่า TKN มีกำหนดการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 3 ธันวาคม 58 หลังจากการเสอนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายนนี้ โดยหุ้น IPO ของ TKN นั้นแบ่งสัดส่วนการกระจายหุ้นออกเป็น 218 ล้านหุ้น จัดจำหน่ายให้กับผู้มีอุปการะคุณของบริษัทหลักทรัพย์ 82 ล้านหุ้น จัดจำหน่ายให้กับผู้มีอุปการะคุณของ TKN และอีก 60 ล้านหุ้น จัดจำหน่ายให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดราคาขายหุ้นละ 4 บาท

การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วของเถ้าแก่น้อย จากเดิมที่ 255 ล้านบาท เป็น 345 ล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มทุนจำนวน 90 ล้านบาท หรือคิดเป็น 360 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์หุ้นละ 0.25 บาท ราคาเสนอขายอยู่ที่ 4.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสม และให้ส่วนลดถึง 48% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วน P/E เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่ใกล้เคียงกับเถ้าแก่น้อยและอยู่ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ เถ้าแก่น้อย จะระดมทุนได้ 1,440 ล้านบาท โดยจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 25-27 พ.ย.นี้ โดยบล.เอเซียพลัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย และมีผู้จัดจำหน่ายอีก 5 แห่งคือ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ,บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,บล.เคที ซีมิโก้ จำกัด และบล.ทรีนิตี้

นายก้องเกียรติ กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าหุ้นเพิ่มทุนของเถ้าแก่น้อยจะได้รับการตอบรับอย่างสูงจากนักลงทุนสถาบันและรายย่อย เนื่องจากความสามารถของคณะผู้บริหารและคณะกรรมการของเถ้าแก่น้อย ผลิตภัณฑ์ตราเถ้าแก่น้อยที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงงานที่มีมาตรฐานสากลและระบบการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เถ้าแก่น้อยเติบโตอย่างโดดเด่นมากกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ