บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) ประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ชนะที่ 39,792 ล้านบาท ตามเงื่อนไขต้องจ่าย 50% ภายใน 90 วัน และอีก 25% ภายใน 2 ปี และ 25% สุดท้ายภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันประมูลได้
แสดงว่าที่ต้องจ่ายงวดแรกคือ 50% จึงอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หากพิจารณาเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้น ณ ไตรมาส 3/58 ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท หรือในมุมมองของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ที่ 8.1 พันล้านบาท ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ
แต่อัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ณ ไตรมาส 3/58 เป็นประมาณ 0.83 เท่า (อัตราส่วนหนี้สินทั้งหมดต่อทุนเป็น 2.2 เท่า) ก็ยังสามารถกู้ได้เพิ่มอีก คือ หากสมมุติให้กู้ทั้งหมดที่ 2 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้อัตราส่วนเงินกู้ต่อผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 1.1 เท่า ก็ถือว่ายังเป็นระดับที่ไม่สูง แต่ข้อเสียคือ TRUE จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มหากอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% ก็จะมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มปีละ 1 พันล้านบาท และไปบั่นทอนผลการดำเนินงานที่กำลังฟื้นตัวได้ ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาท
ดังนั้น TRUE ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้วิธีไหน หากเลือกเพิ่มทุนก็จะเป็นการรบกวนเงินผู้ถือหุ้น (Cash Call) และมี dilution effect แต่หากเลือกกู้เพิ่ม ผลการดำเนินงานก็จะด้อยลงเพราะดอกเบี้ยจ่ายเพิ่ม ทั้งนี้การเพิ่มทุนอาจมีทางเลือกให้พันธมิตรคือ China Mobile International Holdings ซึ่งปัจจุบันถือหุ้น TRUE 18% มาเพิ่มทุน PP บางส่วนได้ หรือจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ที่ 27.96% มาช่วยเพิ่มทุน PP
แต่อาจกล่าวได้ว่าการประมูล 4G ของ TRUE จะเกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ และการช่วงชิงส่วนครองตลาด แต่ในช่วง 2-3 ปีแรกจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ที่เห็นชัดเจนคือ 1) ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตเป็นเวลา 18 ปี ตกปีละ 2.2 พันล้านบาท 2) ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่ม และ 3) ค่าเสื่อมราคาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อมีการลงทุนในโครงข่ายและอุปกรณ์ 4G เพิ่มขึ้น
ส่วนการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ XR 31 ก.ค.57 เป็นสัดส่วน 2.5725:1 ที่ราคา 6.45 บาท