FPI จับมือพันธมิตรชิงโรงไฟฟ้าชีวมวลชายแดนใต้ 36 MW มั่นใจพร้อมทุกด้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 30, 2015 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) มั่นใจศักยภาพมีความพร้อมทั้งด้านแหล่งเงินและวัตถุดิบ ที่จะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อรวม 36 เมกะวัตต์ (MW) โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูลงานดังกล่าว
"เรามีความพร้อมทุกด้านในการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาพใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งจะยื่นซื้อซองในวันที่ 1-7 มีนาคม ปี 2559 โดยแต่ละรายจะเข้าลงทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้น ซึ่งในส่วนของ FPI ยืนยันว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของเงินที่ใช้สำหรับลงทุน เนื่องจากเตรียมใช้เงินที่ได้จากการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) ที่ออกในช่วงก่อนหน้า"นายสมพล กล่าว

นายสมพล กล่าวว่า คณะกรรมการของบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล (Biomass Power Plant) โดยการเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งใหม่รวม 5 บริษัท เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลรับคัดเลือกและอนุญาตเป็นผู้เสนอขายไฟฟ้า เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแต่กรณีไป คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นเท่ากับ 8.96 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

"การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อยื่นประมูลให้ได้มาซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในไตรมาส 1 ของปี 59 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนถึงจำนวนบริษัทที่จะสามารถชนะการประมูลเพื่อได้มาซึ่ง PPA รวมถึงเงินลงทุนที่บริษัทจะใช้ในการดำเนินโครงการทั้งหมด ดังนั้นภายหลังทราบผลการเข้าประมูล ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559 แล้ว บริษัทจะต้องแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งทรัพย์สินต่อไป"นายสมพล กล่าว

ก่อนหน้านี้ FPI ได้ร่วมกับบมจ.อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค (ECF) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ร่วมกับพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วิชญ์ อุตสาหกรรม จำกัด (WIT) และกลุ่มผู้ประกอบการโรงไม้ หรือโรงเลื่อยไม้ ในเขตพื้นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าในแต่ละแห่ง ตั้งเป้าประมูลใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 120 เมกะวัตต์ ขายให้กับกฟผ. และกฟภ.

นายสมพล คาดว่าหาก FPI และพันธมิตร ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าอัตราแผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะอยู่ที่ 15-30% คาดประมาณ 3 ปี หรืออย่างช้าไม่เกิน 7 ปี ก็จะสามารถคืนทุนได้ทั้งหมด โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 15-18 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีนโยบายการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท คือ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก, รับจ้างฉีดชุบโครเมียม, พ่นสี, ประกอบ ชิ้นงานทุกประเภท โดยในอนาคต บริษัทมีแผนจะขยายการดำเนินธุรกิจไปในด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass Power Plant) ซึ่งเป็นผลให้บริษัทเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแห่งใหม่รวม 5 บริษัทดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ