ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม358,045.36 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 30, 2015 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (23 - 27 พฤศจิกายน 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 358,045.36 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 71,609.07 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 5% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 64% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 227,686 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 75,271 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 8,774 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 3.5 ปี) LB21DA (อายุ 6.1 ปี) และ LB206A (อายุ 4.6 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 15,682 ล้านบาท 11,023 ล้านบาท และ 9,813 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) รุ่น AP162A (Non-Rated) มูลค่าการซื้อขาย 604 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT17NA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 581 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC21NB (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 550 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง 1-9 bps. โดยพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 0.09% จาก 2.79% ในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็น 2.70% จากการที่ตลาดค่อนข้างเบาบางและมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการคลังจัดการประมูลพันธบัตรอ้างอิงรุ่นใหม่ LB666A อายุ 50.59 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.00% วงเงินประมูล 9,000 ล้านบาท โดยผลการประมูล (Average Yield) อยู่ที่ 3.86% และได้รับความสนใจจากนักลงทุน 2.81 เท่าของวงเงินประมูล ด้านปัจจัยต่างประเทศ สหรัฐฯ รายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามด้วยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ก่อนหน้า ลดลง 12,000 ราย อยู่ที่ 260,000 ราย ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 38 ตัวเลขดังกล่าวสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดว่า Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 ธ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะทยอยรายงานในช่วงก่อนการประชุม อาทิเช่นตัวเลข PMI ภาคการผลิต และตัวเลขการจ้างงานเดือน พ.ย. จากหน่วยงาน ADP ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา (23 พ.ย. - 27 พ.ย. 58) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 10,083 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 16,747 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 6,664 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                              สัปดาห์นี้        สัปดาห์ก่อนหน้า   เปลี่ยนแปลง            สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                (23 - 27 พ.ย. 58)  (16 - 20 พ.ย. 58)         (%)  (1 ม.ค. - 27 พ.ย. 58)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)        358,045.36         339,818.53       5.36%          18,211,531.11
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                           71,609.07          67,963.71       5.36%              82,033.92
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                109.24             108.93       0.28%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index)                  107.56             107.44       0.11%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                                  1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (27 พ.ย. 58)                                  1.49        1.5    1.49    1.72    2.21      2.7     3.04     3.62
สัปดาห์ก่อนหน้า (20 พ.ย. 58)                             1.46        1.5     1.5    1.75    2.27     2.79     3.08     3.66
เปลี่ยนแปลง (basis point)                                 3          0      -1      -3      -6       -9       -4       -4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ