ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีได้รวมตัวกันจำนวน 4 ราย ซึ่งมีลูกค้าประมาณ 18 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศไทย ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศของ กสทช. 2 ฉบับ คือประกาศมัสแครี่กับประกาศเรื่องการจัดลำดับช่องรายการโทรทัศน์ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดาวเทียมและกิจการเคเบิ้ลทีวีต้องจัดรายการของกลุ่มทีวีดิจิตอลทั้งหมดไว้ในช่องที่ 1 ถึง 36 ส่วนรายการอื่นของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมกับผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีเองนั้นให้จัดเรียงช่องตั้งแต่หมายเลข 37 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ศาลจะไต่สวนในช่วงบ่ายของวันนี้
นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล กับ นายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ ซึ่งทั้งสองเป็นกรรมการชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี กล่าวว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่ต้องฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองเนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีผลต่อสาธารณะได้แก่ผู้ใช้บริการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีอย่างมากเนื่องจากจะทำให้ผู้ชมไม่สามารถหาช่องรายการที่ตนเคยดู หรือชื่นชอบได้พบโดยง่ายและผลของประกาศดังกล่าวเหมือนกับเป็นการยัดเยียดเอารายการช่องที่ 1 ถึง 36 ให้ประชาชนต้องชม ทั้งที่ผู้ชมจำนวนมากอยากเปิดโทรทัศน์แล้วพบช่องดาวเทียมที่เคยดูประจำได้ทันที และยังสามารถทำการตั้งช่องหรือเรียงช่องที่ตนเองต้องการรับชมจากกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือกล่องรับสัญญาณเคเบิ้ลทีวีเองก็ได้ ประกาศฉบับดังกล่าวจึงมีลักษณะที่เป็นการริดรอนเสรีภาพในการรับชมของผู้ชมโดยบังคับให้ดูช่องที่ 1 ถึง 36 ก่อน
นอกจากนั้นยังมีผลต่อผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีเนื่องจากช่องที่ 1 ถึง 10 นั้นปกติเป็นรายการที่ผลิตหรือจัดหามาโดยผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีเอง โดยเป็นการจัดให้ตรงกับความชอบหรือความต้องการของผู้ชม แต่ผลของประกาศดังกล่าวจึงทำให้รายการที่เด่นและน่าสนใจของผู้ประกอบการที่จัดไว้ถูกผลักไปอยู่ด้านหลังสุดตั้งแต่ช่อง 37 เป็นต้นไป จึงเป็นการทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากลูกค้าว่ามีการย้ายช่องโดยรายการที่ดีหรือที่ชื่นชอบถูกย้ายไปอยู่ด้านหลังหมด อีกทั้งทำให้ผู้ประกอบการขาดลูกค้าหรือขาดรายได้
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวได้เคยมีประกาศเดิมของ กสทช.ในปี พ.ศ. 2556 ที่ได้รับรองสิทธิว่าผู้ประกอบการดาวเทียมและผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีให้สามารถใช้ช่องลำดับรายการที่ 1 ถึง 10 ในการออกรายการที่เป็นของตนเอง ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวได้ออกก่อนที่จะมีการประมูลทีวีดิจิตอล และหลังจากการประมูลแล้วได้มีการเริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน 2557 สิทธิของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีก็ยังได้รับการยอมรับโดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 มาช่องทีวีดิจิตอลก็จะเริ่มตั้งแต่ช่อง 11 เป็นต้นไป และยังคงดำเนินเป็นตามดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งมีประกาศของ กสทช. ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ที่ให้ยกเลิกประกาศที่คุ้มครองและรับรองสิทธิช่อง 1 ถึง 10 ของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี
ในส่วนที่ กสทช. อ้างว่าการมีช่องลำดับที่เหมือนกันทุกแพลตฟอร์มจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการไม่เกิดความสับสนนั้น เครือข่ายผู้ประกอบการดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีมีความเห็นว่าไม่จำเป็นที่ถูกแพลตฟอร์มจะต้องมีช่องลำดับเดียวกัน เนื่องจากประชาชนผู้ใช้บริการไม่ว่าจะใช้กล่องทีวีดิจิตัลหรือกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือกล่องรับสัญญาณเคเบิ้ลทีวีก็จะจดจำเฉพาะช่องรายการตามกล่องรับสัญญาณในบ้านของตนเองเพียงกล่องเดียวเท่านั้น แต่ประชาชนไม่เกิดความสับสนเพราะใช้ลำดับช่องของรายการมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปีครึ่งแล้ว ประชาชนจึงไม่เกิดความสับสนแต่อย่างใด ในทางกลับกันหากดำเนินการตามประกาศของ กสทช. ฉบับล่าสุด เรื่องลำดับของช่องก็จะทำให้เกิดความสับสนเพราะประชาชนผู้ใช้บริการไม่สามารถหาช่องรายการที่ชื่นชอบหรือดูอยู่ประจำซึ่งเป็นรายการผลิตของโครงข่ายดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีได้พบ แต่ถูกบังคับให้ต้องดูรายการของกลุ่มทีวีดิจิตัลตั้งแต่ช่องที่ 1 ถึง 36