กทค.คาดออกไลเซ่นส์ 1800 MHz ให้"ทรูมูฟ"พรุ่งนี้หากส่งหนังสือค้ำประกัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 1, 2015 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 32/2558 วันที่ 2 ธันวาคม 2558 คาดว่าน่าจะมีการพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตให้กับบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz หากมีการนำส่งหนังสือค้ำประกันการชำระเงินประมูลงวดที่สองและสามให้กับสำนักงาน กสทช. เป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งน่าที่จะมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องคำขอของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่ต้องการชะลอวันสิ้นสุดการให้บริการเป็นการชั่วคราวบนคลื่น 1800 MHz ตามประกาศเยียวยาฯ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน กทค. ได้มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ 13.00-15.00 น. ผู้บริหารบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะจัดส่งหนังสือค้ำประกันเงินประมูลงวดที่ 2 และที่ 3 ให้แก่ กสทช. ซึ่งเป็นวันฤกษ์มงคลดีที่ ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์ แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

นอกจากนี้ มีวาระเรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2558 วาระนี้เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ โดยรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่า การให้บริการคงสิทธิเลขหมายมีแนวโน้มลดลงและต่ำกว่าขีดความสามารถในการให้บริการค่อนข้างมาก ซึ่งในปัจจุบันแต่ละกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีขีดความสามารถในการให้บริการเป็นจำนวน 60,000 เลขหมายต่อวัน หรือ 300,000 เลขหมายต่อวันสำหรับทั้งอุตสาหกรรม โดยในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวนการโอนย้ายเลขหมายเฉลี่ยรายวันลดลงไปจนกลายเป็นช่วงเวลาที่มีการโอนย้ายเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุดที่ 2,479 เลขหมายเท่านั้น ซึ่งคาดว่าประสิทธิภาพของการให้บริการคงสิทธิเลขหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถรองรับการใช้งานในระยะยาวได้

สำหรับภาพรวมการให้บริการคงสิทธิเลขหมายนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการให้บริการในเดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา จนสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 พบว่ามีการโอนย้ายเลขหมายทั้งสิ้นกว่า 50.9 ล้านเลขหมาย โดยในช่วงที่มีการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2100 MHz ซึ่งเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2556 นั้น ปรากฏว่ามีการโอนย้ายทั้งหมด 49.85 ล้านเลขหมาย โดยประมาณ 97.08 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นการโอนย้ายระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือ ขณะที่การโอนย้ายนอกกลุ่มบริษัทเดิมมีเพียง 1.46 ล้านเลขหมาย หรือ 2.92 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนที่มีการโอนย้ายเลขหมายมากที่สุดของกลุ่มเอไอเอสและดีแทค พบว่ามีการโอนย้ายเลขหมายสูงเกินโควต้าหรือขีดความสามารถสูงสุดในการรองรับการให้บริการคงสิทธิเลขหมายของแต่ละบริษัท นั่นคือ ในเดือนกันยายน 2557 กลุ่มเอไอเอสมีการโอนย้ายเลขหมายสูงถึง 1.9 ล้านเลขหมาย ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2557 กลุ่มดีแทคมีการโอนย้ายเลขหมายถึง 1.86 ล้านเลขหมาย ซึ่งตามโควต้าของแต่ละกลุ่มบริษัทมีขีดความสามารถสูงสุดในการให้บริการแต่ละเดือนอยู่ที่ 1.8 ล้านเลขหมาย ซึ่งความผิดปกติในการโอนย้ายเลขหมายที่เกิดขึ้นนี้ ปัจจุบันยังคงไม่มีการตรวจสอบถึงสาเหตุความชัดเจนอย่างเป็นระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ