อันดับเครดิตสะท้อนถึงการเป็นผู้ประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่ในประเทศและผลงานที่ยาวนานในธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจหลักแม้ว่าแนวโน้มการเติบโตจะมีอยู่อย่างจำกัด การขยายธุรกิจไปสู่การผลิตพลังงานทดแทน และกระแสเงินสดที่เสถียรภาพจากบริษัทย่อยซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่ชะลอตัวลงมาก รวมทั้งการมีผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจใหม่ และความเสี่ยงจากการก่อภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์และยังคงสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกิจนี้ได้ อีกทั้งบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดในระดับสูงได้อย่างสม่ำเสมอจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าบริษัทจะจะประสบความสำเร็จในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศและมีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจโดยไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและราคารับซื้อไฟฟ้าที่จะลดลงสำหรับโครงการในอนาคตก็ตาม ในขณะที่ปัจจัยซึ่งกดดันให้อันดับเครดิตปรับลดลงคือการที่บริษัทไม่สามารถรักษาความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักเอาไว้ได้ หรือไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุดังกล่าวจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงและทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน รวมถึงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะสูงกว่า 70% อย่างต่อเนื่อง
EPCO ออกก่อตั้งในปี 2533 เพื่อให้บริการด้านสิ่งพิมพ์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 ณ เดือนสิงหาคม 2558 บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 38% ในขณะที่ครอบครัวชินสุภัคกุลซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ถือหุ้นในสัดส่วน 17% บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการด้านสิ่งพิมพ์แบบครบวงจรแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ นิตยสาร คู่มือสินค้า หนังสือเรียน ปฏิทิน และสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาต่าง ๆ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจบริการด้านสิ่งพิมพ์ในประเทศโดยพิจารณาจากฐานรายได้และสินค้าที่หลากหลาย ชื่อเสียงและผลงานที่ยาวนานทำให้บริษัทสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้าเอาไว้ได้ การมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ แม้ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์จะชะลอตัวลงก็ตาม โดยเห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทที่สูงกว่าบริษัทอื่นในธุรกิจเดียวกัน ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทลดลงจาก 600-650 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2547-2555 มาอยู่ที่ประมาณ 550 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556 และ 2557 จากการที่พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไปจากเดิมที่อยู่ในรูปแบบสิ่งพิมพ์ไปเป็นสื่อแบบดิจิทัล เมื่อพิจารณาเฉพาะธุรกิจสิ่งพิมพ์บริษัทยังคงมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) สูงกว่า 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่ารายได้จะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงประโยชน์จากการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนด้วย เพื่อรับมือกับอุปสงค์ในบริการด้านสิ่งพิมพ์ที่ลดลง บริษัทจึงขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2555 โดยลงทุนผ่านบริษัท บ่อพลอย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัท โดยบริษัทบ่อพลอย โซล่าร์ ได้เริ่มดำเนินงานโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) 2 โครงการแรกในจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 10 เมกะวัตต์ ในปี 2557 บริษัทบ่อพลอย โซล่าร์ ก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการในจังหวัดลพบุรีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้โซลาร์ฟาร์มทั้งหมดของบริษัทดำเนินการภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นเวลา 10 ปี
ในช่วงปี 2557-2558 บริษัทบ่อพลอย โซล่าร์ ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) จำนวน 8 โครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 1.5 เมกะวัตต์ โครงการโซลาร์รูฟท็อปมีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟน.และได้ราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 6.55 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นเวลา 25 ปี การขยายธุรกิจไปสู่การผลิตพลังงานทดแทนช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออกมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและช่วยรักษาการเติบโตของรายได้ของบริษัท บริษัทเริ่มมีฐานรายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2555 การลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งผลให้บริษัทมีฐานรายได้มากกว่า 800 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ 660 ล้านบาทในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 22.8% ในปี 2551 สู่ระดับ 17% ในปี 2555 อัตราส่วนกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 36% ในปี 2556 และ 43% ในปี 2557 หลังจากรับรู้กำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญารวม 48 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างในช่วงปี 2559-2561
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงบางส่วนจากการที่ตลาดสิ่งพิมพ์มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ในบริการด้านสิ่งพิมพ์ที่ลดลง โดยธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากการแข่งขันที่รุนแรงกับสื่อแบบดิจิทัลซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทยังมีผลการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปรากฏในระยะเวลาอันสั้น แม้ว่าบริษัทจะใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Photovoltaic (PV) ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วก็ตาม ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ได้ระดับผลผลิตที่มีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องมีการออกแบบที่ดี อีกทั้งยังต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์และได้การรับรอง และจะต้องดำเนินการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องมีการดูแลซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลาด้วย ซึ่งผลงานในส่วนธุรกิจนี้ของบริษัทยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
อันดับเครดิตยังถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันและโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากความเพียงพอของบุคคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือที่ควบคุมและติดตามกระบวนการผลิต ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีซึ่งจะกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน ความเสี่ยงจากการมีคู่แข่งมากขึ้นเนื่องจากการเป็นธุรกิจที่เข้ามาได้ง่าย ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น ราคารับซื้อไฟฟ้าและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายการลงทุนของบริษัทอีกด้วย
ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 800 ล้านบาทต่อปีเป็นอย่างต่ำในช่วงระหว่างปี 2558-2561 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50% โดยกำไรจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้นมาจากฐานรายได้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นและความสม่ำเสมอของรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำและได้รับ Adder จากการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี
แผนการลงทุนของบริษัทในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าบริษัทจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ต่ำกว่า 2 เท่า สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายแล้วคาดว่าจะอ่อนแอลงจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ ในช่วงปี 2558-2561 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 18% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับ 5-6 เท่า และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะอยู่ในช่วง 60%-65% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า