ทั้งนี้ หากพิจารณาจากราคา BMCL ที่เคลื่อนไหวในกระดานในช่วงที่ผ่านมา เราคาดหุ้น BEM จะเริ่มการซื้อขายที่ราคาราว 4.50-4.90 บาท โดยหากคำนวณจาก consensus ของ BMCL และ BECL ที่ 2.30 บาท และ 46.20 บาท ตามลำดับ จะทำให้ราคาเป้าหมายของ BEM อยู่ที่ 5.41 บาท จึงแนะนำ"ทยอยสะสมเมื่ออ่อนตัว"ช่วงก่อนวันขึ้น SP ในวันที่ 18 ธ.ค.58 นี้
จากการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผู้บริหารแสดงความมั่นใจอย่างมากต่อการควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งจะเสริมให้บริษัทใหม่หลังควบรวมแข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการเติบโตอย่างยังยืน เนื่องจากเป็นการรวมจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัท (BECL และ BMCL) เข้าด้วยกัน โดยบริษัทใหม่จะ (1) มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อรองรับงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยออกในช่วงต้นปี 59 (2) มีศักยภาพในการบริหารระบบขนส่งครบทั้งระบบราง และทางด่วน ซึ่งตอบโจทย์โครงการประเภท PPP ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในอนาคต และ (3) เพิ่มโอกาสให้กับบริษัทลูก (BMN) ในการเติบโตทางด้านธุรกิจสื่อ และโฆษณา และมีโอกาสนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในอนาคต โดยมี Tentative Timetable ดังนี้
เรามีมุมมองระยะยาวเชิงบวกต่อการควบรวมในครั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจให้มีความชัดเจน และแข็งแกร่งมากขึ้น โดยจะประกอบไปด้วย (1) ขนส่งและโลจิสติกส์ (BECL + BMCL) (2) รับเหมาก่อสร้าง (CK) (3) สาธารณูปโภค (TTW) และ (4) พลังงาน (CKP) และด้วยโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นจากการควบรวม ซึ่งหนุนด้วย recurring income จาก BECL และ รายได้จากการเปิดเดินรถสายสีม่วงในเดือน ส.ค. 59 ซึ่งจะช่วยให้ BMCL ผ่านจุดคุ้มทุน ประกอบกับโอกาสในการจัดหาเงินทุนได้ในหลากหลายช่องทางทั้งการออก Bond และการทำ Infrastructure Fund ซึงจะทำให้ BEM มีศักยภาพในการประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน และมอเตอร์เวย์ ที่จะเริ่มทยอยออกมาในช่วงต้นปี 59
BEM เป็นหุ้นที่มีความพร้อมทั้งในแง่ของเงินทุน และศักยภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งตอบโจทย์โครงการประเภท PPP ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นรูปแบบการประมูลหลักในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ทั้ง 5 โครงการ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี มูลค่า 26,731 ล้านบาท (2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มูลค่า 31,728 ล้านบาท (3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มูลค่า 82,600 ล้านบาท (4) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางประอิน – นครราชสีมา มูลค่า 84,600 ล้านบาท และ (5) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี มูลค่า 55,620 ล้านบาท