เนื่องจากในปีหน้าบริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซในเมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์เต็มปี หรือคิดเป็นรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาท จากปีนี้ที่มีการขายไฟได้เพียง 6-7 เดือน โดยธุรกิจไฟฟ้าให้มาร์จิ้นสูง ประกอบกับงานก่อสร้างที่บริษัทรับมาใหม่มีมาร์จิ้นที่ดีขึ้นด้วย
ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท โดยจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/58 ราว 5 พันล้านบาท และอีก 60% จะรับรู้รายได้ในปีหน้า ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ฯในปี 60 ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างการประมูลงานก่อสร้างประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการในต่างประเทศ 75% คาดหวังจะได้รับงาน 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยทราบผลการประมูลในปีหน้า
ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ที่เมียนมาร์นั้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในครึ่งหลังปี 59 มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี ซึ่ง TTCL Power จะเป็นผู้ลงทุน โดยปัจจุบันบริษัทอยุ่ระหว่างรอการอนุมัติราคาขายไฟของรัฐบาลเมียนมาร์หลังจากที่บริษัทได้เสนอค่าไฟฟ้าไป คาดว่าจะได้รับความชัดเจนหลังการเลือกตั้งในเมียนมาร์เสร็จสิ้นลงไปแล้ว
“การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่พม่า 1,280 MW ยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน เนื่องจากเรามีเงินสดและวงเงินในการกู้รวมแล้ว 2-3 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการทำธุรกิจ และธุรกิจก่อสร้างของบริษัทใช้เงินทุนไม่มาก"นายกอบชัย กล่าว นายกอบชัย กล่าวว่า สำหรับแผนที่บริษัทจะไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 30-45 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จกลางปีหน้า และก่อสร้างได้ครึ่งหลังปี 59 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี ใช้เงินลงทุน 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ โดยการลงทุนจะเป็นของ TTCL Power เช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าในการนำบริษัท โตโย-ไทย พาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (TTCL Power) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์นั้นคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในต้นปี 60 โดยจะระดมทุนประมาณ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆที่ บริษัทเตรียมเข้าไปลงทุน
"TTCL Power จะดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ TTCL ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 248 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เมียนมาร์ 120 เมกะวัตต์ และถือหุ้นในโรงไฟฟ้าที่จังหวัดอ่างทอง 8 เมกะวัตต์ และจากการไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้านวนคร 120 เมกะวัตต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะนำโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,280 เมกะวัตต์ เข้าไปนับรวมในจำนวนเท่าไร เพราะขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ทั้งนี้ หลังจาก TTCL Power เข้าตลาดหุ้นแล้ว กลุ่ม TTCL จะถือหุ้นใน TTCL Power สัดส่วน 50% จากปัจจุบันที่ถือ 70%"นายกอบชัย กล่าว
นายกอบชัย กล่าวว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท 2 ราย คือ TOYO ENGINEERING CORPORATION (TEC) และ Chiyoda Coporation (CHIYODA) จะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน TTCL รวม 43.8 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7.86% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทให้กับกลุ่มผู้บริหารของ TTCL โดยจะเป็นลักษณะขายรายการขนาดใหญ่ (Big Lot) คาดว่าจะทำรายการเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
ในส่วนของ TEC จะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน TTCL จำนวน 27 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.86% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด เนื่องจาก TEC มีความต้องการใช้เงินเพื่อไปแก้ไขความเสียหายทางการเงินของ TEC ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะไม่กระทบความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และ TEC จะยังคงถือหุ้นของบริษัทฯ ในสัดส่วน 17.43%
ด้าน CHIYODA จะขายหุ้นที่ถือใน TTCL จำนวน 16.8 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 3% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด หลังการขาย CHIYODA จะคงถือหุ้นใน TTCL สัดส่วน 3% ซึ่งสาเหตุการขายเพื่อทบทวนสินทรัพย์ของ CHIYODA และแม้จะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TTCL ต่อไป แต่จะมีความร่วมมือทางธุรกิจกับผู้บริหารของ TTCL ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการบริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างแบบครบวงจร (EPC) ในภูมิภาคนี้
ขณะที่กลุ่มผู้บริหารของ TTCL เข้าซื้อหุ้นจาก TEC และ CHIYODA เพราะมีความเชื่อมั่นในผลการดำเนินงานและแผนธุรกิจ รวมถึงเข้าใจธุรกิจของ TTCL เป็นอย่างดี