SPRC ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 8.30 บาท ต่ำกว่าราคาขาย IPO 7.78%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 8, 2015 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น SPRC ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 8.30 บาท ลดลง 0.70 บาท(-7.78%) จากราคาขาย IPO ที่ 9 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 1,070.55 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 8.50 บาท ราคาทำระดับสูงสุด 8.60 บาท และราคาลงต่ำสุด 8.25 บาท

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ประเมินราคาเป้าหมายของหุ้นบมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง(SPRC) ในปี 59 ช่วง 9.20-10.80 บาท/หุ้น อ้างอิง PBV ที่ 1.33-1.48 เท่า เป็นผลจากการใช้กรณีศึกษาสมมติฐานค่าการกลั่น ซึ่งเชื่อว่าเหมาะสมกับธุรกิจโรงกลั่นที่มีความผันผวนของผลประกอบการสูงมาก อีกทั้ง SPRC ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาขายผลิตภัณฑ์ให้สะท้อนราคาตลาดมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเมื่อสัญญาเริ่มมีผลในวันที่หุ้นซื้อขายครั้งแรก ค่าการกลั่นอาจถูกกระทบมากกว่าคาด สมมติฐานสำคัญ ได้แก่ Dividend payout 50% และ ROE ระยะยาว 15.7-16.4%

กรณีฐาน ใช้สมมติฐานค่าการกลั่นที่ 6.80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะได้ราคาเป้าหมาย 10.00 บาท (อ้างอิง PBV 1.40 เท่า) ที่ราคาขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) 9.00 บาท จะมี PER16 ที่ 6.5 เท่า ด้วยผลตอบแทนจากเงินปันผล 7.7% ส่วนที่ราคาเป้าหมาย 10.00 บาท จะมี PER16 ที่ 7.2 เท่า และผลตอบแทนจากเงินปันผล 6.9% ถือว่าเหมาะสม เนื่องจากผลประกอบการของ SPRC มีโอกาสผันผวนมากกว่าคู่แข่งที่มีธุรกิจที่หลากหลาย ขณะที่ SPRC ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นเพียงอย่างเดียว โดยมีกรอบการซื้อขายตามสมมติฐานค่าการกลั่น +/- 0.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากกรณีฐานที่ 9.2-10.8 บาท

เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ คาดว่ากำไรสุทธิของ SPRC ในปี 58 ที่ 8,178 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 6,367 ล้านบาทในปี 57 เป็นผลจากค่าการกลั่นรวมที่คาดจะเพิ่มเป็น 8.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งรวมขาดทุนสต๊อก 1.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้ว จากระดับติดลบ 1.45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปี 57 ส่วนปี 59 กรณีฐานคาดกำไรสุทธิจะลดลง 26.4% จากปีนี้ เป็น 6,020 ล้านบาท บนสมมติฐานค่าการกลั่นตลาดที่ 6.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 9.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่ตึงตัวลดลง และการปรับสัญญารับซื้อผลิตภัณฑ์หลัง IPO

ทั้งนี้ SPRC มีความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสัญญาหลังเข้าซื้อขายในตลาดฯ การพึ่งพากลุ่มเชฟรอนในการจัดหาน้ำมันดิบมากขึ้น ราคาขายที่ลดลง, ความผันผวนของราคาน้ำมัน, ค่าการกลั่น, ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ย, การหยุดเดินเครื่องนอกแผน และการแทรกแซงของรัฐบาล

SPRC ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1.65 แสนบาร์เรล/วัน คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 13.2% ของกำลังการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดของไทย โดยหลังการขายหุ้น IPO ยังคงมีเชฟรอน เซาท์ โฮลดิ้งส์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 60.56% และบมจ.ปตท.(PTT) ถือหุ้น 5.41%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ