กพท.ร่วมมือ EASA ส่งเสริม-ยกระดับความปลอดภัยการบิน ลุ้นผล 10 ธ.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 8, 2015 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในการลงนามร่วม (Cooperation Framework Arrangement on Aviation Safety) ระหว่างกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ The European Aviation Safety Agency (EASA) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกระดับความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ซึ่งจะเน้นการจัดทำกฎระเบียบและแลกเปลี่ยนบุคลากร ตามแนวคิด วิธีการกฎระเบียบ วิธีปฎิบัติ และเอกสารคู่มือต่างๆ ของ EASA รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาการผู้อำนวยการ กพท.เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้คณะกรรมการสหภาพยุโรป(อียู)จะประกาศผลการพิจารณาในเวลาประมาณ 18.00 น.ของไทย ซึ่งจากการเข้ามาตรวจสอบของEASA เน้นที่ความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาด้านการบิน และไม่ไขึ้นอยู่กับารพิจารณาของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(FAA)

อย่างไรก็ตม เบื้องต้นเชื่อว่าอียูจะไม่ประกาศลดเกรดเหมือน FAA โดยกรณีที่ดีที่สุดคือจะไม่มีชื่อประเทศไทยอยู่ในการเฝ้าระวัง ซึ่งจะไม่มีการแบนสายการบินของประเทศไทยที่ทำการบินเข้าอียู ขณะที่กรณีแย่ที่สุด คือประกาศแบนทุกสายการบินของไทย หรือแบนเป็นรายสายการบิน ซึ่งถือว่าร้ายแรงกว่ากรณี FAA ดังนั้น ทางการบินไทยจะต้องเตรียมแผนรองรับในทางธุรกิจไว้ด้วย

ทั้งนี้ EASA เป็นตัวแทน 28 ประเทศของอียูประเมินสายการบินต่าง ๆ โดยในรอบนี้ บมจ.การบินไทย (THAI)เชิญให้ EASA มาประเมินมาตรฐานดานความปลอดภัย รวมถึงแผนการแก้ปัญหาของ กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้วย แต่ EASA จะเน้นที่สายการบินมากกว่า หลังจากนั้นจะเสนอผลการประเมินให้ที่ประชุมคณะกรรมการอียูต่อ ซึ่งปกติจะมีการตรวจสอบและประกาศการพิจารณาสายการบินต่างๆ ของทุกประเทศที่ทำการบินเข้าอียู ทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วอียูประกาศว่าไม่มีเหตุที่จะต้องแบนประเทศไทย

ด้านนายปีเตอร์ บอมเบย รองหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยด้านการเดินอากาศ กระทรวงคมนาคมของสหภาพยุโรป กล่าวว่า เกณฑ์หลักๆ ที่จะพิจารณาจะเน้นเรื่องความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับทราบเห็นว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจจากที่ได้มีการจัดสรรทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา และในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันแก้ปัญหาในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ