ทั้งนี้ การควบรวม 2 บริษัทจะต้องดู 2 เรื่อง คือ 1.การโอนสัญญาสัมปทาน 2.การแก้ไขสัญญา และจะต้องขออนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาใน 3 เรื่อง คือ 1.ข้อกฎหมาย 2.รัฐเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากการควบรวม 3.ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการควบรวมนี้ จะได้รับการดูแลดีเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในส่วนของข้อกฎหมายคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจเดิมของทั้งสองบริษัทได้เข้าไปถือหุ้นอยู่ใน 2 บริษัทเดิมได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่มีผลกระทบในข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำกับกิจการร่วมลงทุนก็ให้ความเห็นชอบว่าการควบรวมบริษัทแบบนี้ไม่ได้มีผลกระทบในความเสียหายต่อรัฐและต่อผลประโยชน์ของชาติ ด้านอัยการก็ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ
"เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องข้อกฎหมายในการควบรวมกิจการระหว่าง BECL และ BMCL มาจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ BEM ไม่มีผลกระทบทางกฎหมาย"
ส่วนทางเศรษฐกิจได้ข้อสรุปว่าการควบรวมกิจการดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความเข้มแข็งทางธุรกิจ ซึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะอาศัยแค่งบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ภาคเอกชนจะต้องมีความเข้มแข็งด้วยเช่นกัน
"การควบรวมกันทำให้บริษัทเข้มแข็ง ถือว่าส่งผลดีในแง่ของการสนับสนุนส่งเสริมให้กิจการต่างๆในประเทศมีความเข้มแข็งไปด้วย การจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน CLMV หรือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่บริษัทเอกชนในประเทศของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้การจ้างงานภายในประเทศ การเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ SME มีความแข็งแกร่งขึ้นด้วย"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ขณะที่ประชาชนก็จะยังได้รับการดูแลดีเท่าเดิม เพราะจะเป็นการบริหารสัญญาตามหลักเกณฑ์เดิม แม้ว่าอัตราสัดส่วนในบริษัทใหม่ของทั้ง BECL และ BMCL จะลดลง รวมถึงผู้ถือหุ้นหรือรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นสัดส่วนถือหุ้นจะลดลง แต่หานำสัดส่วนของ BECL และ BMCL มารวมกันก็จะยังเป็นสัดส่วนเท่าเดิม
"ประเทศ รัฐบาลไม่ได้เสียเปรียบอะไร แต่มีผลทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดีมากขึ้น เพราะบริษัทเอกชนในประเทศมีความเข้มแข็ง เชื่อมโยง SME เชื่อมโยงธุรกิจชุมชน เพราะประเทศต้องขับเคลื่อนด้วยภาครัฐและเอกชนควบคู่กันไป และสุดท้ายการได้รับการบริการของประชาชนก็ยังอยู่ในคุณภาพที่ดีเท่าเดิม เพราะเป็นการบริหารสัญญาในหลักเกณฑ์และกฎกติกาเดิม"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว