(เพิ่มเติม) เลขากสทช.คาดประมูลคลื่น 900 MHz ขั้นต่ำ 3 หมื่นลบ./ใบอนุญาต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 9, 2015 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จะมีการแข่งขันดุเดือดมาก และคาดว่าจะมีราคาประมูลขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท/ใบอนุญาตที่มี 10 MHz จากราคาเริ่มต้นเคาะราคาที่ 12,864 ล้านบาท

โดยกสทช.คาดว่าจะใช้เวลาประมูลอย่างน้อย 3 คืน ซึ่งจะเริ่มประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.58 เวลา 9.00 นฺ.และประมูลต่อเนื่องไปถึงเวลา 21.00 น. โดยจะเริ่มเคาะราคาที่ 12,864 ล้านบาท เคาะราคารอบแรกทุกรายต้องเคาะราคามาที่ 13,508 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นรอบละ 644 ล้านบาท คิดเป็น 5% หลังจากที่เคาะราคาไปถึงราคาเต็มจำนวน 16,080 ล้านบาท จะเพิ่มราคารอบละ 322 ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.5%ซึ่งแต่ละรอบใช้เวลา 20 นาที

หากมีการเคาะราคาทุกรอบ ในการเคาะราคาเวลา 9.00-21.00 น.ของวันที่ 15 ธ.ค.58 จะมีการเคาะราคา 36 ครั้ง ราคาประมูลจะปรับขึ้นไปที่ 26,066 ล้านบาท หลังจากนั้น ให้พักการประมูล 3 ชั่วโมง และจะกลับมาเคาะราคาต่อเวลา 00.01 น.- 06.00น.ของวันที่ 16 ธ.ค. 58 เป็นการเคาะราคารอบที่ 37-54 ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นมาที่ 31,862 ล้านบาท และจะให้พักการประมูล 3 ชั่วโมง

และเริ่มกลับมาประมูลในเวลา 9.00-21.00 น.ของวันที่ 16 ธ.ค.58 จะเคาะราคารอบที่ 55-90 ราคาประมูลจะเพิ่มเป็น 43,454 ล้านบาท พัก 3 ชั่วโมงกลับมาเคาะที่เวลา 00.01 - 06.00 น. ของวันที่ 17 ธ.ค.58 เคาะราคารอบที่ 91-108 ราคาประมูลจะขยับมาที่ 49,250 ล้านบาท พักอีก 3 ชั่วโมง

กลับมาเคาะราคาต่อในเวลา 9.00-21.00 น.ของวันที่ 17 ธ.ค.58 เคาะราคารอบที่ 109-144 ราคาประมูลจะขึ้นไปที่ 60,842 ล้านบาท และเคาะราคาต่อในเวลา 00.01 - 06.00 น.ของวันที่ 18 ธ.ค. 58 เคาะราคารอบที่ 145-162 ราคาประมูลจะปรับเพิ่มเป็น 66,638 ล้านบาท

"ประมูลคลื่น 900 MHz จะมีการประมูลเลือดตกยางออก ต้องมีการแข่งขัน ไม่มีใครยอมแน่นอน ผู้ที่ชนะประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งที่แล้ว ได้ไปในราคาสูง ดังนั้นเขาไม่ปล่อยให้คนอื่นได้คลื่น 900 MHz ได้ในราคาต่ำ ไม่อย่างนั้นเขาเสียเปรียบแน่นอน เมินเสียเถอะต้นทุนจะถูกกว่า" นายฐากร กล่าว

สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ได้แก่ เอกชน 4 รายเดิม คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล จำกัด

นายฐากร ระบุว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายมีความจำเป็นการใช้คลื่นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ต้องการคลื่นความถี่นี้มากที่สุด อันดับแรก กลุ่มบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ซึ่งไม่มีความถี่ใดๆเลยจึงคาดว่าต้องเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ได้คลื่นความถี่แน่นอน

อันดับรองมาเป็นบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซี่งให้ AWN บริษัทย่อย เข้าประมูล โดยปัจจุบันเป็นโอเปอเรเตอร์มือถือที่มีจำนวนคลื่นความถี่น้อยที่สุด คือมีจำนวน 30 MHz เป็นคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz และ คลื่นความถี่ 1800 จำนวน 15 MHz

ลำดับถัดมาคือ ทรูมูฟ ยังต้องการได้จำนวนคลื่นความถี่เข้ามาเพิ่มต่อเนื่องปัจจุบันมีคลื่นความถี่ 42.5 MHz คือเป็นคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz , คลื่นความถี่ 1800 จำนวน 15 MHz และคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 12.5 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT)

สุดท้าย บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แม้ว่าปัจจุบันจะมีคลื่นความถี่อยู่ถึง 65 MHz แบ่งเป็น คลื่น 1800 MHz จำนวน 50 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ CAT ที่จะครบสัญญาปี 61 และคลื่น 2100 MHz ที่มี 15 MHz ทั้งนี้หาก DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้จะทำให้เสียโอกาส และหากจะไปรอประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 61 ก็จะมีต้นทุนประมูลสูง เพราะรอบหน้าจะนำราคาประมูลคลื่น 1800MHz จะมีราคาสูงขึ้นเพราะจะใช้ราคาประมูลของปี 58 ที่ราคา 40,000 ล้านบาทเป็นราคากลาง รวมอัตราเงินเฟ้อ ในการกำหนดราคาประมูลในปี 61 ตามมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

นอกจากนี้ กสทช.กำหนดให้ผู้ชนะประมูลจ่ายราคาส่วนเกินของราคาคลื่นความถี่ 900 MHz เต็ม 100% ที่ราคา 16,080 ล้านบาท ได้ในปีที่ 4 โดยงวดแรกจ่าย 50% ในปีแรก จ่าย 25% ในปีที่สอง และอีก 25% ในปีที่สาม เพื่อไม่ให้ผู้เข้าประมูลมีข้อจำกัดด้านเงินกู้กับสถาบันการเงิน

"เชื่อว่าไม่มีใครถอย ครั้งนี้ถ้าไม่สู้จะไปฝันลมๆแล้งๆในปี 61 เอาฝันที่เป็นจริง ประมูลครั้งนี้ ถ้าไปรอวันหน้าราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า...อย่างไรก็ตามสู้กันอย่างน้อย 3 คืน จัดกระเป๋าให้ถูก"นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวต่อว่า ไม่เข้าใจว่าราคาหุ้นสื่อสารปรับตัวลง เพราะตลาดคิดว่าจะเป็นต้นทุนสูงหลังจากที่เห็นราคาประมูลออกมาสูง แต่ถ้าเทียบกับแต่ก่อนก็เสียรายได้ส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทานก็เป็นค่าใช้จ่ายอยู่ดี ขณะที่ได้ใบอนุญาตจะมีต้นทุนต่ำกว่า โดยเสียค่าธรรมเนียมรวม 7.25% ต่อปีหรือเฉลี่ย 26%

นอกจากนี้ ในการประมูล 900 MHz ครั้งนี้จะมีประธาน กสทช.จากประเทศมาเลเซีย และกัมพูชาเข้ามาสังเกตุการณ์

ด้านนายเสน่ห์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่คาดจะประมูลในอนาคตแน่นอนได้แก่ คลื่นความความถี่ 850MHz จำนวน 10 MHz จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย.ปี 61 และคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2x 45 MHz ที่จะนำมาประมูลปี 61 หลังหมดสัญญาสัมปทาน ก.ย.61

ส่วนคลื่นความถี่ 2600 MHz ซึ่งบมจ.อสมท.(MCOT)เป็นเจ้าของ ที่สามารถนำมาประมูลได้จำนวน 70 MHz โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นที่ใช้กับโทรทัศน์ดิจิตอล ซึ่งช่อง7 มีสัญญาสัมปทานอยู่ซึ่งจะหมดอายุปี 66 คาดจะสามารถนำมาประมูลได้ 2x45 MHz อย่างเร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ