ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะติดตามการแก้ปัญหา ICAO และ FAA แม้ EASA ไม่แบนการบิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 11, 2015 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในปี 59 แม้ว่าไทยผ่านมาตรฐานการบินขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) จะส่งผลให้ธุรกิจการบินของไทยยังคงมีการขยายตัวได้ แต่ในบางเส้นทางยังคงดำเนินอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัด โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเส้นทางการบินภายในประเทศและเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเดิมเป็นหลัก ขณะที่อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 59 ที่มีแนวโน้มชะลอลงค่อนข้างมากจากผลของฐานที่สูงในปี 58 จะยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 59 นอกเหนือไปจากผลกระทบจากกรณีการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในปี 58 ซึ่งคงทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาทำตลาดเส้นทางภายในประเทศ รวมถึงเส้นทางไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการรักษาฐานรายได้ของธุรกิจ ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นเป็นอย่างมากตามมา อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้น รวมถึงประเทศจุดหมายปลายทางการบินอาจมีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ณ ลานจอด (Ramp Inspection) เครื่องบินที่มาจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการสายการบินของไทยต้องเผชิญ
"ผลของ EASA ซึ่งมีทิศทางบวกช่วยลดความกังวลต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเส้นทางบินยุโรปสามารถสร้างรายได้ให้กับสายการบินของไทยกว่า 48,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของรายได้จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศทั้งหมด" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

สำหรับผลของ EASA ซึ่งมีทิศทางบวกจะสามารถลดแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีสายการบินที่ทำการบินไปยังประเทศสมาชิก EU จำนวน 2 สายการบินโดยทำการบินเที่ยวบินประจำ 1 สายการบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) อีก 1 สายการบิน ซึ่งเส้นทางยุโรปนับว่าเป็นเส้นทางศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับสายการบินของไทยเป็นอย่างดี โดยสายการบินของไทยมีจุดหมายปลายทางไปยังทวีปยุโรปกว่า 11 จุดหมายปลายทาง

จากข้อมูลธุรกิจสายการบินของไทย (รวบรวมจากรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่จดทะเบียนบางราย) มีรายได้จากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ารวมกันอยู่ที่ประมาณ 234,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 77 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากภูมิภาคยุโรปประมาณร้อยละ 27 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังจำเป็นต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อกธงแดงกรณี ICAO และการปรับอันดับมาตรฐานความปลอดภัยของ FAA โดยในปี 2559 ที่จะถึงนี้ ภาครัฐและเอกชนยังคงต้องให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานการบินของไทย โดยประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่การดำเนินการตรวจสอบและออกใบรับรองอนุญาตสายการบินใหม่ (AOC Recertification) จำนวน 41 สายการบิน (โดยจะดำเนินการตรวจสอบ 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศก่อน) เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ ICAO กำหนดในคู่มือการตรวจสอบ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังการแก้ไขปัญหาการจัดอันดับชั้นของ FAA ด้วย เนื่องจาก FAA ดำเนินการตรวจสอบตามแนวทางของ ICAO โดยยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่ากระบวนการ AOC Recertification ทั้ง 28 สายการบินดังกล่าว จะสามารถแล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2559 เพื่อแจ้งให้ ICAO เดินทางเข้ามาตรวจสอบภายในเดือนธันวาคม 2559 ตามแผนที่วางไว้หรือไม่

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 59 ยังคงสามารถขยายตัวได้ราวร้อยละ 10 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2558 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 12


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ