"DW ที่เสนอขายในครั้งนี้อ้างอิงกับหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของตลาด เช่น ADVANC, INTUCH, JAS และ TRUE ที่อยู่ระหว่างการแข่งขันการประมูล 4G อย่างเข้มข้น หรือ IRPC, PTTEP ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือ AOT ที่ได้รับปัจจัยบวกจากฤดูกาลท่องเที่ยวที่กลับมาเป็น High Season อีกครั้ง เราคาดว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับ DW ชุดดังกล่าวเป็นอย่างมากเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เพราะนักลงทุนสามารถเลือกทำกำไรได้ทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะหุ้นอ้างอิงจะปรับตัวขึ้นหรือลง"นายบรรณรงค์ กล่าว
สำหรับภาพรวมการซื้อขาย DW ในเดือน พ.ย.ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นผันผวนตลอดเดือน ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายเก็งกำไร DW จำนวนมาก โดยมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขาย DW ต่อการซื้อขายทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.52 ที่มีการเสนอขาย DW เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย 3 อันดับแรกของกลุ่มที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ DW อ้างอิงกลุ่มดัชนีหลักทรัพย์สัดส่วน 48.1% กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 13.3% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 9.9%
DW ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือน พ.ย. 58 เป็น DW ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ซึ่งมีการซื้อขายสูงถึง 50.6% ของการซื้อขาย DW ทั้งหมด โดยนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนใน DW ประเภท Put เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายเดือนที่ดัชนี SET50 เคลื่อนไหวหลุดแนวรับสำคัญที่ระดับ 900 จุด รองมาเป็น DW ที่อ้างอิงหุ้น PTT และ DW ที่อ้างอิงหุ้น KBANK ตามลำดับ
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน พ.ย.58 บล.บัวหลวงยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเมื่อคิดจากมูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี จนถึงสิ้นเดือนพ.ย.58 อยู่ที่ 44.3% และยังเป็นผู้ออกที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 หากพิจารณาจากยอดถือครอง DW โดยนักลงทุน รวมทั้งยังคงมีจำนวน DW สูงสุดในระบบคิดเป็น 20.71% ของจำนวน DW ที่มีการซื้อขายทั้งหมดในตลาดและมีจำนวนหลักทรัพย์อ้างอิงให้เลือกคิดเป็น 67.92%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่านักลงทุนไม่กล้าเข้ามาซื้อขาย DW ในวันแรกเนื่องจากเห็นว่าราคาที่ซื้อขายจริงในวันแรก (Initial Market Price) ต่ำกว่าราคาเสนอขายตั้งต้น (Initial Reference Price) ค่อนข้างมาก รวมทั้งยังมีความกังวลว่าผู้ดูแลสภาพคล่องจะควบคุมราคา DW ให้เป็นไปตามกลไกปกติได้หรือไม่ BLS ในฐานะผู้ออกและผู้ดูแลสภาพคล่องของ DW01 จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กรณีราคา DW ลงแรงในวันแรกนั้นเกิดจากการคำนวณราคาไอพีโอหรือราคาเสนอขายตั้งต้นที่จะต้องคำนวณ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า DW เข้าซื้อขายในวันแรก อย่างไรก็ดี เมื่อ DW เข้าซื้อขายจริงราคาจะปรับเปลี่ยนไปตามหุ้นอ้างอิงของ DW ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับราคาเสนอขายตั้งต้นมากนัก เพราะเป็นการคำนวณที่เกิดจากราคาหุ้นอ้างอิงต่างช่วงเวลากัน
"เนื่องจากหุ้นจะมีการจองซื้อแบบไอพีโอ ดังนั้น เวลาหุ้นเข้าซื้อขายในตลาด ต้นทุนของนักลงทุนที่ได้รับหุ้นจองจะเท่ากันคือได้ที่ราคาไอพีโอ ในขณะที่ DW จะไม่มีการจองซื้อแบบไอพีโอเหมือนหุ้นทั่วไป แต่จะเป็นแบบ Direct listing กล่าวคือนักลงทุนที่ต้องการ DW จะต้องเข้ามาซื้อกับผู้ดูแลสภาพคล่องตั้งแต่วันซื้อขายวันแรกเป็นต้นไปเท่านั้น โดยไม่มีสิทธิซื้อได้ก่อนวันซื้อขายวันแรก ดังนั้นราคาไอพีโอหรือราคาเสนอขายเริ่มต้นจึงไม่มีนัยสำคัญต่อนักลงทุนแต่อย่างใด สิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญจะเป็นราคา DW ที่มีการซื้อขายจริงในวันแรกมากกว่าเพราะกระทบต่อต้นทุนของนักลงทุนโดยตรง นอกจากนี้ หลักทรัพย์บัวหลวงขอเน้นย้ำว่าบริษัทจะมีการควบคุมราคา DW ให้เป็นไปตามกลไกตั้งแต่วันซื้อขายวันแรกจนกระทั่งถึงวันซื้อขายวันสุดท้าย แม้ว่า DW ตัวนั้นจะไม่มีการซื้อขายจากนักลงทุนก็ตาม โดยนักลงทุนสามารถศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคา DW และ ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงในแต่ช่วงเวลาได้ที่ www.blswarrant.com ในหัวข้อคำนวณราคา DW01"นายบรรณรงค์ กล่าว