ขณะที่ธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน(FA)นั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมการให้ลูกค้าที่เป็นธุรกิจในลาวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นลาวเพิ่มอีก 4-5 ราย หลังจากส่งบริษัท สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ มหาชน (SOUVANNY)ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการทางด้านวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร เข้าตลาดหุ้นสำเร็จในสัปดาห์ก่อน พร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐบาลลาวประกาศนโยบายชัดเจนในการผลักดันรัฐวิสาหกิจของลาวให้เข้าตลาดหุ้นเพิ่มเติมภายใน 2 ปี เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังเตรียมรุกเข้า 3 แขวงสำคัญคือ เชียงขวง-บอริคำไซ-ไซยะบุรี หวังงาน FA ให้บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าได้มีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มเติม
นายสมภพ กล่าวว่า APM LAO คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตชั่วคราวเพื่อเตรียมการเปิดบริษัท เอพีเอ็ม ลีสซิ่ง ในช่วงปลายเดือนนี้หรือต้นปี 59 ก่อนจะได้ใบอนญาตเต็มรูปแบบและเปิดให้บริการได้ในราวไตรมาส 2/59 คาดว่าจะมีทุนจดทะเบียนราว 20 ล้านบาท และอาจจะใช้เงินกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับธุรกิจในลาว โดยจะให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนตทั้งเก่าและใหม่ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
"ปีนี้ APM LAO เริ่มมีกำไรแล้วจากนี้จะเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ราคาลีสซิ่งในลาวลดลง จากปัจจุบันที่ในตลาดทั่วไปต้องดาวน์ 20% บวก/ลบ ดอกเบี้ยรถใหม่ 2.5% ดอกเบี้ยรถเก่า 4% ซึ่งสูง เราจะปรับให้เห็นเป็นเหตุเป็นผล เราทำงานร่วมกับลูกค้าหลายรายในลาว เห็นความต้องการลิสซิ่งในลาวสูงมาก เราน่าจะได้ไลเซ๋นส์ชั่วคราวในปลายดือน ธ.ค.58 ถึง ม.ค.59 ก่อนจะได้ไลเซ๋นส์จริงในช่วงกลางปีหน้า"นายสมภพ กล่าว
บริษัทเชื่อว่าความเสี่ยงสำหรับธุรกิจลีสซิ่งในลาวมีไม่มากนัก เนื่องจากจะเน้นพนักงานในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก รวมถึงธุรกิจเอกชนที่มีความมั่นคง โดยเฉพาะบุคลากรในภาคตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งมีความระมัดระวังในเครดิตของตนเอง ขณะที่หลักเกณฑ์ของทางธนาคารกลางลาวค่อนข้างเข้มงวด กำหนดให้หนี้ค้างชำระ 2 เดือนเป็น NPL และในอนาคตจะศึกษาการนำธุรกิจดังกล่าวเข้าดจทะเบียนในตลาดหุ้นลาวภายในปี 63
จากนั้นบริษัทจะเปิดให้บริการประกันภัยภายใต้ชื่อ เอพีเอ็ม อินชัวร์รัน ในช่วงปลายปี 59-ต้นปี 60 เพื่อต่อยอดธุรกิจลีสซิ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมงานด้านบุคลากร ซึ่งจะมีผู้บริหารระดับสูงจากเอพีเอ็มจากไทยไปดูแล
พร้อมกันนั้น เอพีเอ็มลาวจะเพิ่มพนักงานทั้งจากฝั่งลาวและไทยอีก 8 คน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ FA ที่ดำเนินการอยู่ และจะมีการขยายไปยัง 3 แขวงสำคัญคือ เชียงขวง บอริคำไซ และ ไซยะบุรี เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจให้คำปรึกษากับธุรกิจของคนไทยที่ไปลงทุนด้านพลังงานในลาวให้มีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าธุรกิจท้องถิ่นที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นลาวในมืออีก 4-5 รายแล้ว คาดว่าจะทยอยเข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปี 59 ให้ได้อย่างน้อย 2-3 ราย และยังมีอกหลายดีลที่อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจ้างเป็น FA ขณะที่บริษัทเตรียมจะเสนอแนะให้รัฐบาลลาวสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มสภาพคล่องให้มากขึ้น โดยควรจะประกาศเป็นนโยบายที่จะดำเนินการชัดเจนภายใน 2 ปีนี้
นายสมภพ กล่าวว่า โมเดลธุรกิจในลาวจะใช้เป็นต้นแบบในการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงโอกาสขยายไปในประชาคมอาเซียน(AEC) ซึ่งเบื้องต้นบริษัทมองโอกาสความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจไปยังกัมพูชาและพม่า โดยเฉพาะกัมพูชาที่มีตลาดหุ้นมานานแล้วแต่ยังไม่ active มากนัก ส่วนพม่าคงยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจากที่เพิ่งประกาศเปิดทำการตลาดหุ้นไป ซึ่งบริษัทจะยื่นขอไลเซ่นส์พื่อทำธุรกิจในทั้งสองประเทศ