กทค.คาดประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ยืดเยื้อ-เชื่อราคาไม่เกิน 3 หมื่นลบ./ใบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 15, 2015 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ตั้งแต่เริ่มแรกมีการประมูลสู้ราคาทุกรอบ หากมีการเคาะราคาเช่นนี้ต่อไปแนวโน้มการประมูลครั้งนี้คงไม่ยืดเยื้อ โดยราคาเต็มมูลค่าในรอบที่ 5 อยู่ที่ 16,084 ล้านบาท โดยคาดว่าราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จะไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท

นพ.ประวิทย์ เชื่อว่า ผู้เข้าร่วมประมูลจะมีการแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาประมูลทั้งสองล็อตยังมีการเคาะราคาทุกรอบ ต่างกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ผู้เข้าร่วมประมูลเลือกไม่เคาะราคาในบางรอบ

ทั้งนี้ คาดว่าทุกรายมีความต้องการคลื่นความถี่ 900 MHz เพราะเป็นคลื่นที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกล ครอบคลุมพื้นที่กว้างจึงเหมาะกับการให้บริการในภูมิภาค ต่างจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่เหมาะกับการให้บริการในเขตเมือง ฉะนั้นผู้เข้าร่วมประมูลจึงมีความต้องการคลื่น 900MHz เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการในทุกพื้นที่

นพ.ประวิทย์ เชื่อว่า ค่ายเอไอเอสคงสู้ไม่ถอย ขณะที่ JAS เชื่อว่ามีข้อจำกัด หากใประมูลในราคาสูงมากจะทำให้เกิดต้นทุนธุรกิจ ซึ่งคาดว่า JAS จะประมูลไม่เกิน 28,000 ล้านบาท ส่วน DTAC และ TRUE จะเป็นตัวแปรในการแข่งขันการประมูลครั้งนี้เพราะไม่รู้ว่าทั้งสองรายจะแข่งได้ถึงเท่าไร อย่างไรก็ดีจะไม่มีราคาประมูลสูงเกินจริง. โดยสถิติโลกที่ประมูลสูงสุดที่ 6.8 หมื่นล้านบาท

"ผมคิดว่าแนวโน้มไม่น่าจะยืดเยื้อ ถ้าสู้ราคาแบบนี้. ... เราเชื่อว่าจะจบภายใน 20 ชั่วโมง ถ้าเคาะทุกรอบก็จบเร็วก่อน 6 โมงเช้า เอไอเอสสู้ไม่อั้น ส่วน DTAC และ TRUE ต้องดูว่าจะสู้ถึงขนาดไหน ส่วน JAS สู้ไม่น่าเกิน 28,000 ล้านบาท ถ้ามากกว่านี้จะขาดทุน"นพ.ประวิทย์กล่าว

สำหรับผู้เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แจส โมบายบรอดแบรนด์ จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด

กรรมการ กทค.กล่าวว่า ชุดคลื่นความถี่แรก 895-905/940-950MHz จำนวน 10MHz มีผู้แข่งราคาน้อยเพราะเป็นคลื่นที่ติดกับคลื่น 850 MHz ที่ DTAC ใช้งานอยู่ ซึ่งจะมีการ์ดแบนคั่นอยู่ ก็อาจจะมีการรบกวนคลื่น ส่วนชุดที่สอง 905-915/950-960MHz จำนวน 10MHz เป็นคลื่นที่ไม่ติดกับใคร จึงเป็นที่ต้องการมากกว่าจะเห็นได้ว่ามีผู้เสนอราคาแข่งมากกว่า 1 ราย

ทั้งนี้ ทุกรายทั้งเอไอเอส . ดีแทค และทรู ส่ง CEO เข้ามาร่วมเข้าประมูล แต่ JAS มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 คนและไม่มีนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS เข้าร่วมประมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ