รวมทั้ง ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในสาธารณรัฐโมซัมบิก เหลือ 30% จากเดิมที่ถือหุ้น 70% เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีมูลค่าราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่พันธมิตรท้องถิ่นก็จะลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 10% จากเดิมถือ 30%
สำหรับหุ้นส่วนที่เหลืออีก 60% จะกระจายให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ 6 ราย ได้แก่ รัฐบาลอินเดีย รัฐบาลจีน ผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะขายหุ้นได้ในราคาพรีเมียม อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และการขายหุ้นจะช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับบริษัทเพิ่มเติม ขณะเดียวกันบริษัทก็อยู่ระหว่างจัดหาเงินกู้กับธนาคารระหว่างประเทศด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ค.59
นายเปรมชัย ยอมรับว่าหนักใจในการหาแหล่งเงินทุนจำนวนมาก เพราะขณะนี้บริษัทได้ลงทุนในหลายโครงการที่ล้วนแต่มีมูลค่าจำนวนมาก ได้แก่ โครงการเหมืองโปแตช โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ โครงการทางด่วนในบังคลาเทศ โครงการเหมืองแร่ Bauxite ,โรงงาน Alumina เป็นวัตถุดิบในการผลิตอลูมิเนียมในลาว และโครงการสัมปทานการก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในสาธารณรัฐโมซัมบิก ทำให้บริษัทต้องเร่งหาเงินลงทุน โดยได้ตัดขายหุ้นบางส่วนออกไปเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท ขณะเดียวกันก็เห็นว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทอยู่ที่กว่า 2 เท่า จากนโยบายไม่เกิน 2.5 เท่า จึงพยายามที่จะไม่ใช้วิธีเพิ่มทุน
"ผมมีงานที่ต้องลงทุน เช่น ทวาย โปแตช อลูมิเนียม โครงการที่โมซัมบิก ที่เกิดพร้อมกัน เป็นโปรเจคขนาดยักษ์ทั้งนั้น และยังมีที่บังคลาเทศ นี่เป็นปัญหาที่ทำให้ผมขาดทุน แต่ว่าถ้าเดินโครงการไปแล้ว มันมีผลตอบแทนที่สูงทุกโครงการ เฉลี่ย 20% แต่ก็พยายามจะไม่เพิ่มทุน อย่างโปแตชผมก็ตัดสินใจขายออกไปได้เงินเข้ามาบริษัทก็ได้กำไรทันที เพิ่งขายไป ได้กำไรเยอะมาก ได้เงินมา 500 กว่าล้านเหรียญ โดยจะเซ็นสัญญากันสื้นเดือนธันวาคมนี้ ก็ทำให้เราไม่ต้องเพิ่มทุน
ส่วนที่โมซัมบิก คาดว่าจะทำ Finance Close ให้เสร็จทันกรกฎาคม 59 ซึ่งตอนนี้เหลือขั้นตอนเจรจากับแบงก์ที่เป็นแบงก์ระหว่างประเทศ ก็ไม่ต้องให้เราเพิ่มทุนเหมือนกัน เพราะเรา dilute ไปเหลือ 30%"นายเปรมชัย กล่าว
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรกที่ ITD ได้รับสัมปทานพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.)นั้น นายเปรมชัย กล่าวว่า บริษัทเลือกที่จะให้ทางการเมียนมาร์นำพื้นที่โครงการทวายจำนวน 8 ตร.กม.มาชดเชยกับเงินลงทุนที่บริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ได้รับพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเพิ่มเป็น 35 ตร.กม.
ในเบื้องต้นที่ลงนามสัญญาสัมปทานแล้วจำนวน 27 ตร.กม. คิดเป็นประมาณ 18,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 12,600 ไร่ นอกนั้นใช้พื้นที่ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงไฟฟ้า, LNG Terminal, ท่าเรือ ถนน เป็นต้น บริษัทคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่จำนวน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมโครงสร้างพื้นฐาน) ภายในเวลา 8 ปี
บริษัทแบ่งพื้นที่พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็น 4 เฟส เฟสละประมาณ 3 พันไร่ ซึ่งมาจากเงินกู้และเงินทุนอย่างละครึ่ง โดยระหว่างนี้เจรจาเงินกู้กับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในรูปแบบเงินกู้โครงการ(Project Finance) โดยโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ITD ได้ร่วมทุนกับบมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ฝ่ายละ 50%
นายเปรมชัย กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทและ ROJNA ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 58 ได้มีข้อตกลงที่ต้องดำเนินการ 57 ข้อ ซึ่งทำได้แล้ว 27 ข้อ คาดว่าจะทำได้ครบทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.59 หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างเมียนมาร์และไทยเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง(JHC) อนุมัติรับรองก่อนที่จะได้ข้อตกลงเงินกู้กับทางธนาคารในเดือนก.พ. 59 และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมี.ค.59
ส่วนถนนเชื่อมโยงไปยังโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เป็นปัญหามาก ทางญี่ปุ่นต้องการปรับปรุงเป็น 4 ช่องจราจร จากที่เบื้องต้น ITD เสนอ 2 ช่องจราจร ระยะทาง 132 กิโลเมตร(กม.)ใช้เงินลงทุน 125 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย อย่างไรก็ดี ทาง ITD ได้ปรับปรุงแบบถนนเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว ซึ่งสามารถเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ฝั่งไทย และสามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนน ใช้เงินลงทุน 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ถ้าเจรจาเรื่องเงินกู้จบในเดือนม.ค. 59 จะเสนอ JHC อนุมัติไปคราวเดียวกัน ทางบริษัทจะเปลี่ยนมาก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรแทนถนน 2 ช่องจราจรที่อยู่ในเงื่อนไขที่ลงนามไว้ก่อนหน้า ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ระบุว่าจะให้เงินช่วยเหลือในการสร้างถนนครั้งนี้ และมองว่าถ้าทำอุโมงค์เพิ่มก็จะทำให้ใช้เงินลงทุนมากขึ้น""นายเปรมชัย กล่าว
นายเปรมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก ได้แก่ โครงการ LNG Terminal นั้น ITD ร่วมกับ บริษัท LNG Plus International จำกัด และ เชลล์ ในสัดส่วนร้อยละ 35:35:30 โดยโครงการนี้ลงทุน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้เวลาก่อสร้าง 28 เดือน ซึ่ง LNG Terminal มีขนาด 6 ล้านตัน โดย บมจ.ปตท.(PTT) จะรับซื้อ 3 ล้านตันนำเข้ามาใช้ในไทย เชลล์รับซื้อกว่า 1 ล้านตันนำไปใช้ที่เมืองย่างกุ้ง
ส่วนที่เหลือนำไปในใช้ในการผลิตไฟฟ้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยโรงไฟฟ้า ITD ร่วมทุนกับ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 400 กว่าล้านเหรียญสหรัฐนั้น ใช้เวลาก่อสร้าง 28 เดือน ทั้งนี้ เงินลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ITD จะจัดหาจากธนาคารต่างประเทศ
นายเปรมชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ทวายประมาณ 75 ราย กระจายในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยางพารา และสิ่งทอ เป็นต้น โดยเฉพาะมีผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มมีความต้องการพื้นที่ 300 ไร่ ทั้งนี้ คาดว่าลูกค้าสามารถเข้ามาสร้างโรงงานได้ในปี 60 เพื่อย้ายโรงงานจากไทยหลังจากที่หมดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ในปี 61 โดยจะกำหนดราคาขายไร่ละ 3.5 ล้านบาท ใกล้เคียงนิคมอุตสาหรรมกบินทร์บุรี คาดว่าจะเริ่มขายได้หลังจากลงมือก่อสร้างในเดือนมี.ค.59 ซึ่งจะได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน อย่างไรก็ตามคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเมื่อโครงสร้างพื้นฐานครบที่ใช้เวลากว่าจะเสร็จในอีก 3 ปี
นายเปรมชัย กล่าวว่าส่วนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ทยอยออกประมูลนั้น คาดว่าในปีหน้าบริษัทจะสามารถหางานใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้รวม 1.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะงานภาครัฐมีความถนัดอยู่แล้วคาดว่าจะได้งานประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และ โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ที่จะอัพเกรดเป็นทางคู่
นอกจากนี้บริษัทยังได้ดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนลงทุนเต็มรูปแบบ(PPP) และ ITD ยังจะได้ร่วมมือกับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง โดยเครือซีพีมีพันธมิตรจากบริษัท CITIC Construction Co., Ltd. จากฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งการออกแบบ เป็นที่ปรึกษา รับเหมาก่อสร้าง และมีสถาบันการเงินของตัวเอง และบริษัท ไหหนาน กรุ๊ป (HNA Group) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเรือ สนามบินและรถไฟ
ในปี 58 บริษัทคาดว่าสิ้นปีจะได้งานใหม่ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันได้งานใหม่แล้ว 7 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีงานในมือ(Backlog)ประมาณ 2 แสนล้านบาทที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 3 ปีนี้ ดังนั้น คาดว่ารายได้ในปี 59 น่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ 1 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 6 หมื่นล้านบาท
"ปีหน้างานเยอะแยะ เรากะว่าจะรับงานใหม่สัก 1.5 แสนล้านบาท ภาครัฐก็แสนกว่า ปีหน้ามีแต่งานใหญ่ สายสีส้ม สีชมพู สีเหลือง และมีสุวรรณภูมิ เฟส 2 ผมก็สู้เต็มที่อยู่แล้ว คือคนที่ลงมาประมูลมีแค่ 3-4 เจ้า แป๊บเดียวก็อิ่มกันหมดแล้ว ช.การช่างได้งานรถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่น ราคา 2 หมื่นกว่าล้านบาทก็อิ่มแล้ว ที่เขาประมูลต่ำกว่าราคากลางนิดเดียว แต่ถ้าเราสู้ราคาแล้วขาดทุนเราไม่เอา เพราะตอนนี้มีงานเยอะแยะ คือมาร์จิ้นที่รัฐบาลให้มาก็ไม่มาก ประมาณ 7% ถ้าเราทำได้ดีกว่านั้นก็ได้มากขึ้น แต่ถ้าได้ 7% เราก็โอเค ผมคงไม่รีบ เพราะงานเยอะพอสมควร ถ้าไปรีบต้องไปกดราคาก็ไม่เอา ผมว่าผู้รับเหมารายใหญ่มีงานทำกันทุกคน ช้าเร็วก็ได้ งานก็เยอะ เดี๋ยวข้าวของก็ขาด ซึ่งวัสดุก่อสร้างขึ้นแน่ แต่ตอนนี้ยังไม่ขึ้นมีแรงกดดันจากจีน"นายเปรมชัย กล่าว
ในงวด 9 เดือนของปี 58 ITD รายงานผลขาดทุนสุทธิ 370.76 ล้านบาท เทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 591.24 ล้านบาท