"เราศึกษาลงทุนเพื่อเป็นทางเลือก ไม่ใช่ลงทั้ง 3 ประเทศ ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทั้งผู้ร่วมทุน ราคาน้ำมัน shale oil shale gas และ PTTGC ก็มีแผนจะลงทุนโครงการใหญ่ในสหรัฐด้วย ก็ต้องมีขั้นตอนของเรื่องเงิน lender ซึ่งมีอยู่จำกัด...แต่ทำไมต้องลงทุนในไทยเพราะต้องการสร้างประสิทธิภาพโรงกลั่นในไทยให้เพิ่มขึ้น และสร้างฐานการตลาด ในอนาคต AEC ก็จะเกิดทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตสูงมาก"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ บมจ.ไทยออยล์(TOP)อยู่ระหว่างศึกษาแผนการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันใสเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันกลุ่มปตท.ก็ได้ศึกษาโอกาสการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันในต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย ,เมียนมาร์ และเวียดนามควบคู่กันไปด้วย
แต่ล่าสุดก็ต้องทบทวนหลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ รวมถึงผู้ลงทุน ต้องพิจารณาอีกครั้งถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใหม่กับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้แผนงานต่างๆอาจจะต้องชะลอออกไป แต่ก็คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในต้นปี 60 หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันน่าจะเริ่มนิ่งแล้ว
สำหรับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเน้นในเรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการมุ่งผลิตสินค้ากลุ่มพลาสติกชีวภาพมากกว่าการผลิตสินค้าในกลุ่มพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความผันผวนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวน
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ทำให้กลุ่ม ปตท.ต้องทบทวนทั้งในส่วนของงบการลงทุนและงบรายจ่ายประจำ โดยในส่วนของรายได้จ่ายประจำได้ปรับลดลงทั้งในส่วนของการจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ การจัดสัมมนา รวมถึงการลดระดับที่นั่งในเครื่องบินของผู้บริหารระดับสูงซึ่งเริ่มตั้งแต่ในไตรมาส 3/58
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการปตท.จะพิจารณาอนุมัติงบลงทุนและแผนงาน 5 ปี(ปี 59-63) ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีแบบจำลองการลงทุน 3 แผน โดยประเมินจากราคาน้ำมันดิบ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับราคาน้ำมันสูงที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล, ราคาที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันต่ำที่ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมทั้งหากโครงการใดยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการลงทุนก็จะไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผน ได้แก่ การลงทุนโรงกลั่นน้ำมันในต่างประเทศ หรือโครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ระยะที่ 3 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำ แม้จะทำให้กลุ่มธุรกิจมีผลขาดทุนจากสต็อกผลิตภัณฑ์บ้าง ซึ่งในปีนี้ก็คาดว่าอาจจะขาดทุนสต็อกน้ำมันแต่คงไม่มากเหมือนปีก่อน หลังส่วนต่างราคาน้ำมันในช่วงต้นปีและปลายปีแคบกว่า ปีที่แล้วที่ราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีอยู่ที่กว่า 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และปิดที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ปีนี้ราคาน้ำมันดิบต้นปีอยู่ที่กว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจการผลิตยังสามารถทำกำไรได้ดีจากส่วนต่าง(สเปรด) ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังนับว่าอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่อยู่ในระดับสูงถึง 24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก และคาดว่าสเปรดของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและธุรกิจกลั่นจะยังอยู่ในระดับที่ดีต่อเนื่องในปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของปตท.ในปี 59 จะดีขึ้นจากปีนี้ เพราะคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบ ดูไบไม่น่าจะต่างจากปีนี้มากนัก โดยปตท.ประเมินราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีหน้าที่ราว 53-56 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ยปีนี้ที่ราว 51-52 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทลูกในกลุ่มน่าจะยังเป็นบวก และระดับราคาน้ำมันที่ต่ำน่าจะทำให้เกิดการใช้น้ำมันเติบโตได้ดี รวมถึงการเปิด AEC ก็ยังเป็นปัจจัยหนุนด้วย