นอกจากนี้ ยังได้เห็นสงครามการแข่งขันราคาเพื่อกันรายใหม่เข้าสู่ตลาด และจัดการคู่แข่งที่เป็นรายเก่าที่ไม่ได้คลื่น1800MHz ในการประมูลเมื่อพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อจะได้เหลือรายใหญ่ในตลาดเพียง 2 รายในระหว่างที่ยังไม่มีความแน่นอนในการเปิดประมูลคลื่น 1800MHz รอบต่อไปหลังปี 61 เพราะจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว
และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตให้กับผู้ที่ชนะประมูลที่ กทค.ได้ผ่อนคลายระยะเวลา เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีการเคาะราคาขึ้นไปสูงอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ราคาขึ้นไปเกือบถึง5หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่นที่มีความยืดหยุ่นต่างจากเงื่อนไขการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ 1800MHz"นพ.ประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากราคาประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ยังไม่เกิน 2 เท่าของราคาคลื่นความถี่ 1800MHz ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะยังเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับการประมูลความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศที่เคยมีการทำสถิติสูงสุด 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้คาดว่ามีโอกาสที่ราคาประมูลในครั้งนี้จะแตะสถิติโลกหากยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงวันที่ 18 ธ.ค.นี้ หรือวันที่ 4 ของการประมูล
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.กล่าวว่า การแข่งขันยังยังเป็นไปอย่างดุเดือดมีการเคาะราคาต่อเนื่อง ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลถอดใจออกจากการประมูล และมองว่าเป็นการสู้ราคาเพื่อกันไม่ให้รายใหม่เข้ามาสู่ตลาด โดยยอมเสี่ยงที่จะมีกำไรน้อยลง
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ระยะเวลาเคาะราคาประมูลผ่านมาถึง 36 ชั่วโมงเต็ม มากกว่าการประมูลคลื่น1800MHz. ที่ใช้เวลาประมูล 33 ชั่วโมง ขณะที่มีผู้เข้าร่วมประมูลบางรายขอให้มีการเคาะราคาติดเทอร์โบ หรือเคาะราคาในแต่ละรอบสูงขึ้นได้เป็น 10 เท่าของช่วงราคาที่กำหนดให้เคาะขึ้นไปในแต่ละครั้งจำนวน 322 ล้านบาท แต่กสทช.ยังไม่ได้มีการพิจารณาอนุญาต