นายอาณัติ มังกรหงษ์ ประธานฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ยูเมย่า จำกัด เปิดเผยว่า นักลงทุนไทยให้ความสนใจโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้าให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นโดยร่วมกับยูเมย่า ซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าทางเลือก ผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลญี่ปุ่นและมีใบอนุญาตสัมปทานการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นรวมกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนของยูเมย่า ในประเทศไทย อยู่ในแผนงานที่ต้องการขยายธุรกิจด้านพลังงานมายังภูมิภาคอาเซียน โดยเล็งไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจเพื่อขยายไปสู่ประเทศสมาชิกต่อไป
“เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ แสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ลดการใช้แหล่งพลังงานหลักที่มีอยู่อย่างจำกัด และในประเทศไทย การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กำลังเดินหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเริ่มต้นธุรกิจนี้ เรามุ่งไปที่การทำโครงการเชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มร่วมกับยูเมย่าที่ญี่ปุ่น เพราะเรามีใบอนุญาตสัมปทานการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นจึงจะขยายธุรกิจในส่วนของโซลาร์รูฟท็อปสำหรับสถานประกอบการหรือกลุ่มเอสเอ็มอี และแนะนำเทคโนโลยีกำจัดขยะไบโอแมสให้คนไทยได้รู้จักภายในปี 2559 แผนธุรกิจในประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของธุรกิจให้ชัดเจนขึ้น และบริษัทฯ ยังมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในอีก 2 ปีข้างหน้า" นายอาณัติ กล่าว
นายอัฐวุฒิ ปภังกร ประธานฝ่ายการเงิน บริษัท ยูเมย่า จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานของยูเมย่าในแต่ละไซต์งานที่ญี่ปุ่นมีขนาด 1.5 เมกะวัตต์, 2.2 เมกะวัตต์ และ 1.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใน นากาโนะ, อิบารากิ และยูชิกุ ได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐบาลในราคา 32 ถึง 36 เยนต่อหน่วย คิดเป็นสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานประมาณ 5-8%
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีใบอนุญาตสำหรับการผลิตไฟฟ้าอีก 250 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างทางเลือกใหม่ด้านการลงทุนให้กับนักลงทุนของไทยที่สนใจลงทุนด้านพลังงานโดยได้รับผลตอบแทนอยู่ที่ 5-7 % ภายในระยะคืนทุน 8 ปี ปัจจุบันมีบริษัททั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสนใจ การร่วมลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และ TGPRO เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นซึ่งได้ลงนามในเอ็มโอยูไปแล้ว
ล่าสุด บริษัทกำลังเตรียมการร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับอีก 2 บริษัทซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ รายหนึ่งทำธุรกิจด้านการกำจัดขยะ อีกหนึ่งทำธุรกิจพลังงานแก๊ส เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วม ก่อนจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในญี่ปุ่นระหว่างยูเมย่ากับบริษัทผู้ประกอบการของไทยเพื่อทำโซลาร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้าให้รัฐบาลญี่ปุ่น
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บริษัท ยูเมย่า จำกัด ได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์โดยทำเทคโนโลยีด้านการกำจัดขยะไบโอแมสเข้าไปดำเนินการกำจัดขยะจำนวนมากกว่า 150 ตันให้กับหน่วยงานรัฐบาล และสามารถแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองให้กับฟิลิปปินส์ได้ สำหรับประเทศไทย การเข้ามาลงทุนของบริษัท ยูเมย่า จำกัด ดำเนินงานโดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในสัดส่วนการถือหุ้น 51 : 49 โดยมีผู้บริหารคนไทย 2 คนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุนนี้ และยังถือหุ้นร่วมอีก 5% ในบริษัท ยูเมย่า จำกัด บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นด้วย