อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ผู้เข้าประมูลยังคงเคาะราคาทั้ง 2 ใบอนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มองว่าราคารวมทั้ง 2 ใบอนุญาตคงจะเพิ่มขึ้นไปไม่เกิน 120,000 ล้านบาท เนื่องจากหากราคาสูงกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อ EBITDA ของบริษัทที่ชนะประมูลให้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้การลงทุนที่จะเกิดขึ้นอนาคต เช่น โครงข่าย เกิดข้อจำกัด
"มองว่าอาจจะมีการสู้ราคากันไปถึง 120,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ ซึ่งทุกรายยังมีการเคาะราคาแข่งกันต่อเนื่อง และเชื่อว่าทุกรายรู้ว่านี่คือเกมส์ ก็อาจจะมีบางรายที่ miantain ราคาไว้ แต่อย่างไรก็ตามราคาไม่น่าจะสูงไปกว่า 120,000 ล้านบาทแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบกับ EBITDA ให้ต่ำลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะชนะ"นายก่อกิจ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดการประมูล ประเมินว่า ในการประมูลครั้งนี้เอไอเอสมีความจำเป็นจะต้องมีคลื่นความถี่ในย่านนี้ เพื่อเสริมการส่งสัญญาณการให้บริการในเชิงเทคนิคทั้งระยะสั้น-ยาวของคลื่นที่มีอยู่ เพราะหากได้มาจะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ขณะที่ทรูมูฟเอช เป็นผู้ที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง และไม่ว่าจะลงสนามแข่งขันเมื่อใดก็มักเป็นฝ่ายที่ชนะ
สำหรับดีแทค ยังไม่รู้อนาคตว่าคลื่นที่ถือครองอยู่และกำลังจะหมดอายุสัมปทานจะถูกนำไปใช้ในด้านใด ซึ่งไม่แปลกที่ดีแทคจะต้องแข่งราคาเพื่อให้ได้ใบอนุญาตคลื่น 900 MHz มาให้ได้ด้วย ส่วนค่ายจัสมิน ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย และยมีความต้องการคลื่นดังกล่าวไปต่อยอดธุรกิจ จึงมีความตั้งใจที่จะสู้ราคาค่อนข้างมาก