Thai BMA คาดปี 59 เอกชนออกหุ้นกู้มูลค่า 5.2-5.5 แสนลบ.จากปีนี้ 5.7 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)เปิดเผยแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 59 คาดว่าในปี 59 จะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวเฉพาะที่มาขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ประมาณ 520,855-552,840 ล้านบาท จากปีนี้มูลค่าการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาวเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ทั้งปีเท่ากับ 570,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน

ในปีหน้าบริษัทเอกชนมีแนวโน้มระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ออกจะกระจายไปยังบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมมากขึ้น หมวดธุรกิจที่มีแนวโน้มออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นได้แก่ หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค เนื่องจากมีการขยายตัวทางธุรกิจค่อนข้างมาก นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับแนวโน้มทิศทางของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Yield) ในปี 59 คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะยังทรงตัวตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงอย่างน้อยกลางปี ขณะที่ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามปัจจัยจากต่างประเทศโดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรปที่เศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น และเศรษฐกิจประเทศจีนที่ยังคงมีการขยายตัวแต่ในอัตราที่ไม่สูงเหมือนเดิม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงมีการเติบโตในระดับไม่สูงนัก

ขณะที่มองว่ากระแสเงินทุนต่างประเทศ(Fund flow)ยังมีแนวโน้มไหลออกจากจากตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ที่ไหลออกไปแล้ว 103,218 ล้านบาท หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นในระยะต่อไป ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นระหว่างสหรัฐและไทย โดยจะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พิจารณาแรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม

อย่างไรก็ตาม ฐานะทางการเงินของไทยในปัจจุบันถือว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.5-1.6 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐโดยปัจจุบันต่างชาติยังลงทุนอยู่ในตราสารหนี้ไทยประมาณ 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งหากต่างชาติถอดการลงทุนออกไปหมดก็ไม่กระทบต่อเงินทุนสำรองแต่อย่างใด

"ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเงินทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีไหลหลับเข้ามาในช่วงเดือน ต.ค. หลัง หลังเฟดไม่ได้มีการส่งสัญญาณแน่ชัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่หลังจากที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นจริง และปี 59 ก็คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 3 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวกดดันให้ กนง. ต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อรักษาส่วนต่างให้อยู่ในระดับที่เหมะสม แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติมภาพรวมของเศรษฐกิจไทยก่อนว่าเอื้อต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่"นายธาดา กล่าว

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานกรรมการ ThaiBMA กล่าวถึงภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 58 ว่าเป็นครั้งแรกที่มูลค่าคงค้าง (Outstanding) ของตลาดโดยรวมทะลุ 10 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 10.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ประกอบด้วยตราสารหนี้ภาครัฐร้อยละ 75 และภาคเอกชนร้อยละ 25

ขณะที่จำนวนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ระยะยาวสูงถึง 134 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาวรวม 90 บริษัท ในปีนี้มีผู้ออกรายใหม่ (Newcomer) ถึง 38 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากปีก่อนที่มีเพียง 26 บริษัท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวมากที่สุดยังเป็นหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA มียอดการออกรวมทั้งปีเท่ากับ 851,285 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม มีจำนวนผู้ออกรวมถึง 180 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อนที่มีจำนวน 133 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นผู้ออกรายใหม่ 62 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนที่มี 56 บริษัท ทำให้ภาพรวมทั้งปี 58 มีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA สูงถึง 314 บริษัท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในปีนี้เงินลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยลดลง 103,218 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดการถือครองที่ระดับ 682,873 ล้านบาท ณ สิ้นปีที่แล้ว การลดลงของเงินลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่เกิดจากการหมดอายุของตราสารหนี้ถึง 81,524 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงในตราสารหนี้ระยะสั้น 69,361 ล้านบาท และลดลงในตราสารหนี้ระยะยาว 33,857 ล้านบาท

ด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรรัฐบาล พบว่า Yield ของพันธบัตรระยะสั้นถึงกลาง (อายุคงเหลือน้อยกว่า 5 ปี) ปรับตัวลดลงประมาณ 47-54 basis points เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ Yield ของพันธบัตรระยะยาว (อายุคงเหลือตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) ปรับตัวลดลงประมาณ 16-36 basis points เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว จากความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ช้ากว่าที่คาด เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจากปัญหาหนี้ของประเทศกรีซ และรูปแบบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ