ขณะที่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในกลุ่ม DTAC มีการเสนอราคาสุดท้ายที่ 70,180 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าดีแทค มีความตั้งใจที่จะแข่งขัน และไม่ออกจากการเป็นผู้เล่นในตลาด โดยขณะนี้ดีแทคถือว่ามีจำนวนคลื่นในมือมากพอสมควร รวมทั้งสิ้น 50MHz แบ่งเป็น คลื่นความถี่ 850MHz จำนวน 10MHz และคลื่น 1800MHz จำนวน 25MHz (สิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ได้รับจาก บมจ.กสทโทรคมนาคม หรือ CAT ในปี 2561) และคลื่น 2100 MHz จำนวน 15MHz (สิ้นสุดใบอนุญาตปี 2570) แต่อย่างไรก็ตามหลังจากปี 2561 จำนวนคลื่นก็อาจจะลดลง จากสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยทางดีแทค อยู่ระหว่างการเจรจากับ CAT เพื่อขอใช้คลื่น 1800 MHz จำนวน 20MHz ซึ่งมองว่าจุดวิกฤตของดีแทค คงไม่ใช้เรื่องของจำนวนคลื่น แต่อาจเป็นเรื่องของระยะเวลามากกว่า
ในส่วนของ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในกลุ่ม TRUE ปัจจุบันบริษัทฯ มีคลื่นรวมทั้งสิ้น 55MHz แบ่งเป็น คลื่นความถี่ 850MHz จำนวน 15MHz (เช่าจาก CAT สิ้นสุดปี 2568) , 900MHz จำนวน 10MHz (สิ้นสุดใบอนุญาตปี 2573) ,1800MHz จำนวน 15MHz (สิ้นสุดใบอนุญาตปี 2576) และคลื่น 2100MHz จำนวน 15MHz (สิ้นสุดใบอนุญาตปี 2570)
สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในกุลุ่ม JAS เดิมเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง FTTx มีความจำเป็นที่จะต้องจับมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส หรือดีแทค เพื่อเสริมศักยภาพคลื่นที่มีอยู่ในมือ คือ คลื่น 900MHz จำนวน 10MHz (สิ้นสุดใบอนุญาตปี 2573) ซึ่งหากไม่สามารถร่วมมือได้ ก็อาจจะส่งผลทำให้แจส ต้องมีการลงทุนเสาสัญญาณค่อนข้างมาก แต่หากพันธมิตรเป็นดีแทค มองว่าดีแทคจะกลายเป็นผู้เล่นที่มีคลื่นในมือมากที่สุด