การประมูลครั้งนี้ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีผู้เล่นหลักเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย โดยผู้เล่นแต่ละรายต่างมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกัน เช่น รายที่มีคลื่นความถี่ในมือมากสุดทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องการให้บริการข้อมูลที่รวดเร็วกว่าคู่แข่ง แต่อาจมีปัญหากระแสเงินสดจำกัด ส่วนรายที่เคยครองตลาด เริ่มมีความเสี่ยงจากจำนวนคลื่นที่มีอยู่จำกัดแต่มีความแข็งแกร่งทางการเงินที่สามารถขยายการลงทุนโครงข่ายได้มากกว่าคู่แข่ง ในขณะที่ผู้เล่นรายใหม่นั้นอาจเสียเปรียบในเรื่องเม็ดเงินและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ แต่สามารถต่อยอดบริการจากฐานลูกค้าบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่กว่า 2 ล้านรายได้
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าในปี 59 ธุรกิจโทรคมนาคมจะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด โดยผู้เล่นรายใหม่อาจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการต่างชาติและใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการตลาดและราคาเพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ส่วนผู้เล่นรายเดิมอาจชูประสิทธิภาพในการให้บริการที่เหนือกว่าเนื่องจากมีแบนด์วิธมากกว่า ประกอบกับนำเสนอแพ็คเกจราคาที่ถูกลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมของตน
ท้ายที่สุดแล้วสงครามราคาที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของผู้เล่นแต่ละราย โดยรายที่มีคลื่นในระบบใบอนุญาตทั้งหมดจะมีข้อได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากมีต้นทุนกำกับดูแล (regulatory cost) ที่ต่ำกว่า ต่างจากผู้เล่นบางรายที่ยังคงมีคลื่นในระบบสัมปทานที่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าสัมปทานในอัตราที่สูงกว่า
อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง-ยาว ตลาดโทรคมนาคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างผู้เล่นหลัก 4 ราย โดยครั้งล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือเมื่อ TRUE ซื้อกิจการของ HUTCH ในช่วงปลายปี 2553 โดย Hutch เคยเป็นผู้ให้บริการมือถือในระบบ CDMA (Code Division Multiple Access) ความถี่ 800 MHz
อย่างไรก็ดี HUTCH มีข้อจำกัดในการให้บริการหลายประการ อาทิ มีแบนด์วิธในการให้บริการไม่มากนักเพียง 10 MHz และได้รับสัมปทานเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง จึงทำให้กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งผลให้ HUTCH มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 2-3% ทั้งนี้ TRUE ได้เข้าซื้อกิจการของ HUTCH ในเดือนธันวาคม 553 หลังจากที่ HUTCH เข้ามาทำธุรกิจในไทย 7 ปี
ดังนั้น จึงต้องจับตามองทิศทางและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจโทรคมนาคมหลังจากนี้ โดยจากกรณีศึกษาของประเทศพัฒนาแล้วที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเกาหลีใต้ พบว่ามีจำนวนผู้ให้บริการมือถือไม่มากนัก ประมาณ 3-4 ราย เท่านั้น โดยผู้ให้บริการรายเล็กสุดในประเทศเหล่านี้ที่ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ขึ้นไป