ทั้งนี้ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3% จากปีนี้ โดยเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนให้กลัไบเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ นับเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อเข้าไปขยายตลาดผู้บริโภคในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) โดยชูหุ้น Top Picks สำหรับไตรมาส 1/59 เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการแข็งแกร่ง และมีประเด็นการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเปิด AEC
ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% จากปีนี้ที่ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากไม่มีการสำรวจแหล่งใหม่ๆ และแหล่งเดิมๆทยอยปิดจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำทำให้ไม่คุ้มการลงทุน แต่ความต้องการใช้น้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะทยอยปรับตัวดีขึ้น และหากราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างที่คาด กลุ่มพลังงานก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน จากปีนี้คาดว่าจะมีผลขาดทุนจากสต็กน้ำมันกว่า 60,000 ล้านบาท
"ตลาดหุ้นไทยปี 59 จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ด้วยปัจจัยบวกหลายๆ อย่างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นกลับมาคึกคักสามารถดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างชาติได้ตามศักยภาพที่แท้จริง นอกจากนี้ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การเปิด AEC อย่างเป็นทางการ แม้จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเนื่องจากมีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะได้เห็นกระแสข่าวเกี่ยวกับการมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดของบริษัทจดทะเบียนไทย ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ขณะที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปตามรายได้ที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของสังคมเมือง"นายอิสระ กล่าว
นายอิสระ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 58 ค่อนข้างอ่อนแอ ถึงปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ได้ปรับตัวลดลงแล้วกว่า 12% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ความล่าช้าในการใช้จ่ายของภาครัฐ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนและ ผู้บริโภคที่ลดลง อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ในตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงและการอ่อนตัวลงอย่างรุนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
หุ้น Top Picks สำหรับไตรมาส 1/59 แนะนำหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม และมีประเด็นการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้านเมื่อมีการเปิด AEC ซึ่งธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์ได้แก่ ธุรกิจต่อเติมและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจบริการทางการเงิน และธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบด้วย
บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) กำไรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและ valuation น่าสนใจ การเปิด AEC จะช่วยสนับสนุนให้กำไรเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะจะกระตุ้นให้ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวและทำธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ,บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายสินเชื่อได้มากขึ้น การตั้งสำรองลดลง และค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ชะลอตัวลง บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาด CLMV จาก1%ในปัจจุบัน สู่ 10% ภายในปี 63 หรือเติบโตเฉลี่ย 43% ต่อปี
บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ราคายังปรับขึ้นช้า และน่าจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นหลักและครอบคลุมทุกตลาดการเปิดเออีซี ซึ่งจะสนับสนุนให้กำไรเติบโตเพิ่มมากขึ้น , บมจ. เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR) เป็นหุ้นที่น่าซื้อลงทุนในระยะยาว เพราะแนวโน้มกำไรแข็งแกร่ง โดยมีการวางแผนขยายโรงภาพยนตร์เท่าตัวจาก 517 โรงในปัจจุบัน สู่ 1,000 โรงในปี 63 สัดส่วนรายได้จากตลาด CLMVจะเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปัจจุบัน สู่ 20% ในปี 63
บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) สัดส่วนรายได้จากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 49 สู่ 22% ในช่วงครึ่งแรกของปี 58 และกำลังการผลิตใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียนและจะเริ่มเดินเครื่องผลิตระหว่างปี 58-60
นายอิสระ กล่าวถึงการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1,800 MHz ครั้งที่ผ่านมาว่า การประมูลใบอนุญาตมีราคาแพงกว่าที่คาด ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามระยะยาวยังถือว่ามีความน่าสนใจ โดยมองว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) น่าสนใจ ระยาวจะได้ผลดีสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด เพราะมีครบทุกคลื่นความถี่ แม้ว่าในปี 59 อาจจะมีผลขาดทุนแต่เชื่อว่าผลประกอบการจะกลับมามีกำไรได้ในปี 60 แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้นให้ชะลอการลงทุนก่อนจนกว่าการเพิ่มทุนจะแล้วเสร็จ
ส่วนบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ถือว่ามีความน่าสนใจรองลงมา แม้ว่าจะไม่สามารถประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ แต่ยังมีคลื่นความถี่อื่นๆอยู่ในมือและมีการเงินที่แข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามการรักษาฐานกลุ่มลูกค้า 2G ที่มีอยู่กว่า 10 ล้านรายว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด
ขณะที่บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากในปี 60 ต้องคืนใบอนุญาตคลื่นความถี่ และต้องพัฒนาระบบอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการตัดค่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เป็นผู้เล่นรายใหม่ที่มีความน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าจะมีการขยายตลาดอย่างไร เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาราว 12 เดือน เพื่อที่จะขยายโครงข่าย และวางระบบต่างๆให้แล้วเสร็จ