อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารในฐานะเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG) ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่มีเสถียรภาพในธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการควบรวมกิจการกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยยังคงเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์และต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากกลุ่ม MUFG ต่อไปในฐานะบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม
อันดับเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป
BTMU เป็นธนาคารที่ถือหุ้น 100% โดย MUFG ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น BTMU ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 72.01% ของธนาคารภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญโดยสมัครใจซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2556 สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม MUFG ในธนาคารผ่านทาง BTMU เพิ่มขึ้นจาก 72.01% เป็น 76.88% ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ในขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิมที่ 20% ไว้ ทั้งนี้ BTMU ได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก Moody’s Investors Service ที่ระดับ “A1" แนวโน้ม “Stable" และจาก Standard and Poor’s ที่ระดับ “A+" แนวโน้ม “Negative" ณ เดือนธันวาคม 2558 โดยอันดับเครดิตของธนาคารสะท้อนถึงการสนับสนุนที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มบริษัทแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน
BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 5 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2558 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 11.4% และเงินรับฝาก 9.0% การควบรวมกิจการของ BTMU สาขากรุงเทพฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารในเดือนมกราคม 2558 ได้ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางธุรกิจของธนาคารทั้งในแง่ของการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สินเชื่อของ BTMU สาขากรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสินเชื่อคุณภาพดี ในขณะที่ธนาคารมีจุดแข็งในด้านสินเชื่อรายย่อยซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ภายหลังการควบรวม สินเชื่อของธนาคารจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 4 และมีสัดส่วนที่มีความสมดุลมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโอกาสที่จะใช้ความสัมพันธ์ที่ BTMU สาขากรุงเทพฯ มีกับบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ในประเทศไทยในการขยายฐานลูกค้าไปสู่เครือข่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น ตลอดจนเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารแก่พนักงานที่ทำงานในบริษัทนั้น ๆ อีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 30.0 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 32.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 แม้ว่าจะมีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพออกไปรวม 1.4 พันล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณเป็นอัตราส่วนแล้ว สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารลดลงจาก 3.0% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2557 เหลือ 2.7% ณ เดือนกันยายน 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากสินเชื่อที่รับโอนมาจาก BTMU สาขากรุงเทพฯ ทำให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 4 ในขณะที่มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำมาก
ในปี 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 14.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อนหน้า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) เท่ากับ 1.2% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 1.06% ในปี 2556 กำไรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตลอดจนประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้น และต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้เสียที่ลดลงเล็กน้อยในปี 2557 สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2558 นั้น ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยที่ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ 0.96% และ 8.63% ตามลำดับ ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเล็กน้อย
ในส่วนของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้นธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินที่ค่อนข้างสูง โดยมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 112% ณ เดือนกันยายน 2558 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ต่ำกว่า 100% ธนาคารมีสัดส่วนการพึ่งพาการกู้ยืมระยะยาวมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นเนื่องจากมีสัดส่วนการให้สินเชื่อเช่าซื้อซึ่งมีลักษณะเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่มากกว่าธนาคารอื่น
ธนาคารมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดย ณ เดือนกันยายน 2558 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 12.5% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 14.3% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนรวม Conservation Buffer ที่ระดับ 6% และ 8.5% ตามลำดับอยู่พอสมควร