นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ APM คาดว่า การจัดตั้งบริษัทในสิงคโปร์จะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 2/59 เบื้องต้นจะมีทุนจดทะเบียนราว 1.25 แสนเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการเติบโตและการต่อยอดธุรกิจด้าที่ปรึกษาทางการเงินในระดับภูมิภาค เพิ่มช่องทางในการดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลายครบวงจร โดยเฉพาะงานด้านที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และผลักดันการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบ Dual Listing อาทิ การซื้อขายคู่กันไปทั้งตลาดหลักทรัพย์ลาวและตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หลังจากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเต็มรูปแบบ
"การตั้ง APM International จะขยายฐานลูกค้าและนักลงทุน รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินให้มีความหลากหลายครบวงจรไปยังกลุ่มอาเซียนและในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จจากการตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็ม ลาว จำกัด ซึ่งจะทำให้เราก้าวสู่ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเราได้มองเห็นถึงโอกาสมากมายในธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินที่ยังมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่เชื่อว่าปีนี้จะกลับมาดีและมีเสถีรภาพมากขึ้น อีกทั้งความต้องการคำแนะนำและการวางแผนโครงสร้างธุรกิจและการเงินเพื่อปรับตัวและรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตยังมีอีกมาก"นายสมภพ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดตั้ง บริษัท APM International จะช่วยรองรับการขยายธุรกิจการที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะ เวียดนาม กัมพูชา และพม่า ในขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะขยายไปยังประเทศ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากในปี 58 ที่ผ่านมา APM ได้นำบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยและลาวไปนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์)ให้กับนักลงทุนที่สิงคโปร์ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนเป็นอย่างดี
ดังนั้น บริษัทจึงมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยแต่งตั้ง นายเสกสรร ธโนปจัย และนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เพื่อดูแลบริการต่างๆ ในประเทศไทย ขณะที่คณะกรรมการบริษัทมีมติแต่งตั้งให้นายสมภพ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อดูแลนโยบายและงานในภาพรวมขององค์กรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
สำหรับแผนการดำเนินงานของ บริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็ม ลาว จำกัด ตั้งเป้าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว(LSX) รวม 15 บริษัทภายในปี 63 จากปัจจุบันนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนแล้ว 2 บริษัท และในปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและข้อมูลให้ลูกค้าเพื่อเข้าจดทะเบียนเพิ่มอีก 2-3 ราย ได้แก่ บริษัท สิทธิ โลจิติกส์ จำกัด ประกอบธุรกิจขนส่ง และบริษัท ร่วมพัฒนากสิกรรม จำกัดผู้เดียว ที่ประกอบธุรกิจฟาร์มหมู เป็นต้น
พร้อมกันนั้น บริษัทยังมีแผนจะเปิดธุรกิจลีสซิ่ง ภายใต้ บริษัท เอพีเอ็ม ลีสซิ่ง จำกัด คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในไตรมาส 2/59 เพื่อให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนั้นยังศึกษาโอกาสในการทำธุรกิจประกันภัย น่าจะมีข้อสรุปในช่วงปลายปี 59 ถึงต้นปี 60 เพื่อต่อยอดธุรกิจในลาว
"โมเดลธุรกิจในลาวจะเป็นต้นแบบของการดำเนินธุรกิจของ APM ไปยังกลุ่ม CLMV โดยเห็นว่าประเทศกัมพูชาและเวียดนามมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปขยายธุรกิจได้ ขณะที่ประเทศเมียนมาร์ยังมีความจำเป็นต้องศึกษากฎเกณฑ์หลายอย่าง โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 59"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ ยังกล่าวถึงธุรกิจในไทยว่า บริษัทตั้งเป้าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มอีก 35 บริษัทภายในปี 63 จากในช่วงที่ผ่านมาผลักดันเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 25 บริษัท โดยในปีนี้บริษัทอยู๋ระหว่างเตรียมความพร้อมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนอีก 8 บริษัท แบ่งเป็นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) 1-2 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai)อีก 5-6 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ มีโอกาสเติบโต และมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจกาวอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เครื่องมือแพทย์ ผู้ประกอบการเอ้าท์เล็ตขนาดใหญ่ และ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
ขณะนี้ APM ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว 2 บริษัท คือ บมจ.เจตาแบค(GTB)คาดจะเข้าซื้อขายได้ราวปลายเดือน ก.พ.ถึงต้นเดือน มี.ค. และ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล(BM) คาดเข้าเทรดปลายเดือน มี.ค.-ต้นเดือน เม.ย. ส่วนที่เหลือจะทยอยยื่นไฟลิ่งและคาดว่าส่วนใหญ่จะเข้าเทรดได้ทันในช่วงครึ่งปีแรก
นายสมภพ ยอมรับว่าในปีนี้แนวโน้มผลตอบแทนของหุ้น IPO จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนที่เข้ามาเน้นการลงทุนแบบระยะสั้น และมีการหมุนรอบที่เร็วขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลตอบแทนของหุ้น IPO ไม่โดดเด่น ทางบริษัทฯจึงกลยุทธที่จะเพิ่มส่วนลดราคาเสนอขายหุ้น IPO เป็น 25-30% จากช่วงที่ผ่านมามักจะให้ส่วนลดไม่เกิน 25% ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น
"ในปี 59 นี้เราคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น IPO มีแนวโน้มที่จะลดลงจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอไป นักลงทุนจึงเข้ามาลงทุนแบบระยะสั้นซะมากกว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงมีแผนที่จะเพิ่มส่วนลดหุ้น IPO ให้แก่นักลงทุน เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้น IPO ทุกๆระยะเวลาแม้ภาวะตลาดหุ้นในบางครั้งอาจจะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ กล่าวอีกว่า บริษัทยังตั้งเป้าหมายว่าในปี 63 ผลประกอบการในภาพรวมจะทำรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท จากปี 58 มีรายได้ราว 200 ล้านบาท โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจลีสซิ่งไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และที่เหลือจะมาจากงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งธุรกิจในต่างประเทศจะทำสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% นอกจากนั้น บริษัทมีแผนจะนำ APM GROUP จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใด