ส่วน Product สินเชื่อ Bid Bond หรือสินเชื่อเพื่อออกหนังสือค้ำประกันซองประมูล สำหรับ SMEs ที่ทำงานภาครัฐและต้องการเข้าร่วมประมูลงาน ลีซ อิทตั้งเป้าหมายเติบโตถึง 100% เช่นกัน เพราะจากบรรยากาศที่ภาครัฐให้ความสำคัญแก่การประมูลให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม โดยเปลี่ยนวิธีการประมูลมาใช้ E-Bidding แทน E-Auction เดิม จะทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปมีโอกาสเข้าแข่งขันราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปีนี้ จะเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ขณะที่ Product สินเชื่อ Project Backup Financing คาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ที่ 30% ของรายได้รวมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากโปรดักท์นี้ให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมที่จะไปเร่งยอดเติบโตในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสเช่นนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯยังเร่งตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ไปที่ระดับ 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง โดยในปี 2559 ตั้งเป้าหมายการสำรองไว้ที่ 2.50% ของยอดสินเชื่อคงค้าง จากปัจจุบันที่ 2.30% ของยอดสินเชื่อคงค้าง โดยบริษัทตั้งเป้าหมายคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่ระดับประมาณ 2% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
"แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อของบริษัทฯในปีนี้ ยังคงรักษาสัดส่วนลูกหนี้ภาครัฐราว 70% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจดูไม่สดใส การมีหนี้ภาคเอกชนที่สูงเกินไปจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งมักจะเรียกว่าเกิดภาวะหนี้อึดอัด"นายสมพลกล่าว
ขณะที่บริษัทฯเตรียมเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดไม่ต่ำกว่า 50% จากผลการดำเนินงานในปี 2558 ซึ่งทำยอดกำไรสูงสุดนับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทมา 9 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 58 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยในช่วง 9 เดือนแรก พอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1,162 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1,150 ล้านบาท ส่วนเครื่องชี้วัดทุกตัวไม่ว่าจะเป็นพอร์ตสินเชื่อ รายได้ และกำไร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีรายได้รวม 139.66 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขทั้งปีของปี 2557 ที่มีรายได้รวม 128.07 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 50.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่ากำไรสุทธิทั้งปีของปี 2557 ที่มีกำไร 47.81 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/58 แนวโน้มสินเชื่อ และรายได้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีมากขึ้น จากการเพิ่มโปรดักท์ทางการเงินของบริษัทที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างครบวงจร