"เรายังคงไว้ในส่วนของปั๊มตามแนวท่อเป็นฐานใหญ่ และปั๊มนอกบางส่วนก็ยังคงไว้...เราไม่ได้ประกาศขายเป็นการทั่วไป แต่ใครสนใจจะขอซื้อปั๊มเราก็พร้อมจะพิจารณา"นายเทวินทร์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ปตท.คาดว่าจะขยายจำนวนสถานีบริการ NGV ได้ครบ 501 แห่ง ครอบคลุม 54 จังหวัดทั่วประเทศภายในสิ้นปี 58 และมีแผนจะลดการผูกขาดทางธุรกิจ NGV ลงด้วยการหยุดขยายสถานีบริการ NGV และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้ลอยตัวราคา NGV แล้ว ซึ่งล่าสุดวานนี้รมว.พลังงาน คาดว่าจะจะสามารถลอยตัว NGV ได้ในเดือนก.พ. หลังจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับลดลงตามราคาน้ำมันจนทำให้ราคา NGV สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น พร้อมกับให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ศึกษาการอุดหนุนราคา NGV โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับ NGV เข้ามาดูแล โดยให้นำกลับมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)พร้อมกับการลอยตัวราคา NGV ในเดือนก.พ.นี้
นายเทวินทร์ กล่าวว่า การลอยตัวราคา NGV จะเป็นผลดีในระยะยาวต่อทุกฝ่ายและทำให้ราคา NGV ปรับตัวลดลงในระยะต่อไป จากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลง โดยคาดว่าจากช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้ราคา NGV จะลดลงราว 1-1.50 บาท/กก. และการแข่งขันของภาคเอกชนทีจะมีขึ้นหลังจากมีการลอยตัวราคา เพราะจะทำให้มีเอกชนเข้ามาลงทุนในสถานีบริการ NGV ซึ่งจะทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น
ด้านนายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ของ PTT กล่าวว่า การลอยตัวราคา NGV ตามนโยบายของรัฐบาลที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนก.พ.นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะที่ผ่านมาปตท. เข้ามาอุดหนุนราคา NGV รวมแล้วประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยล่าสุดปี 58 ภาระการขาดทุนจากการอุดหนุน NGV ลดลงเหลือราว 1.1 หมื่นล้านบาท หลังจากราคา NGV ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 13.50 บาท/กก.
อย่างไรก็ตามจากนโยบายรัฐบาลที่จะให้ปตท. ยังคงอุดหนุนราคา NGV สำหรับรถสาธารณะที่จะยังคงตรึงราคาไว้ที่ระดับ 10 บาท/กก.นั้น คาดว่าปตท.จะยังคงรับภาระอยู่ราว 230 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะทำให้ภาระการอุดหนุน NGV ของปตท.โดยรวมลดลงจากในอดีต ขณะทีหากกระทรวงพลังงานจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคา NGV ในอนาคต ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี
อนึ่ง สำหรับปริมาณการใช้ NGV ในปี 58 อยู่ที่ระดับ 8,450 ตัน/วัน และคาดว่าในปีนี้จะลดลงเล็กน้อยราว 1% มาที่ 8,300-8,400 ตัน/วัน
นายชวลิต กล่าวอีกว่า ในปลายปี 59 ปตท.จะสามารถเปิดประมูลก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4-5 ปี หลังจากได้รับอนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลแล้ว
โดยนายเทวินทร์ คาดว่าการสร้างท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 จะเป็นการช่วยให้การส่งก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกมาฝั่งตะวันตกได้ครอบคลุมมากขึ้น และเป็นการช่วยลดผลกระทบกรณีที่ก๊าซฯจากฝั่งเมียนมาร์หยุดซ่อมบำรุงอีกด้วย นอกเหนือจากที่ปตท.มีแผนจะก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ประเภทเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit:FSRU) ขนาด 3-4 ล้านตัน/ปี ในฝั่งเมียนมาร์ ภายใน 2-3 ปีนี้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณก๊าซฯทางฝั่งตะวันตกไม่มีปัญหา หลังจากที่ล่าสุดปริมาณก๊าซฯจากแหล่งเยตากุน จากเมียนมาร์มีระดับผลิตลดลงต่ำกว่าปริมาณสัญญาเสนอขาย (DCQ) ซึ่งในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี หากโครงการนี้รวมทั้งโครงการท่อก๊าซฯเส้นที่ 5 ล่าช้ากว่าแผนจะทำให้โรงไฟฟ้าในจ.ราชบุรี ต้องใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
"โครงการคลัง LNG ที่มีเมียนมาร์ตอนนี้มี 2 โครงการ โครงการหนึ่งอยู่ในพื้นที่ทวาย และโครงการ FSRU ของปตท. ซึ่งก๊าซฯส่วนหนึ่งจะส่งมาไทยและใช้ในเมียนมาร์ เรากำลังรอความชัดเจนจากรัฐบาล และกำลังพิจารณาที่ตั้งของพื้นที่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ทวาย หรือ Kanbauk"นายเทวินทร์ กล่าว