ในวันนี้ บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ได้นำรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบซึ่งประกอบในประเทศไทยเป็นคันแรก ทดลองวิ่งจากกระทรวงคมนาคม วนรอบสนามหลวงเพื่อทดสอบสมรรถนะ
โดยรถเมล์ไฟฟ้า จะเป็นแบบชานต่ำ (Low Floor) ความสูงจากพื้น 30 ซม. สามารถยกขึ้นและปรับระดับลงได้อีก 10ซม. กรณีมีน้ำท่วม พร้อมระบบรองรับการให้บริการสำหรับคนพิการ ราคาต้นทุนจากนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ โดยเสียภาษีตามปกติ อยู่ที่ประมาณคันละ 16-17 ล้านบาท เพราะยังไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับรถเมล์ NGV ที่ประกวดราคาอยู่ราคา 3.5 ล้านบาทต่อคัน แต่ผลการศึกษาพบว่า ในระยะยาวรถเมล์ไฟฟ้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ส่วนรถ NGV จะมีค่าซ่อมบำรุงสูงมาก
ด้านนางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ได้ว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาโครงการจัดหารถเมล์ไฟฟ้านำร่อง 200 คันซึ่งอยู่ระหว่างประเมินราคาที่เหมาะสม โดยเบื้องต้น จะใช้วิธีการเช่า เพื่อลดภาระเรื่องการซ่อมบำรุงโดยผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดชอบการซ่อมบำรุง ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ที่มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ในเดือนก.พ. 59 จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอครม.ต่อไป
ส่วนการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น คณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน( TOR ) และร่างเอกสารการประกวดราคา จะประชุมเพื่อทบทวนเงื่อนไข TORเพื่อทบทวนTOR วันที่ 11 ม.ค.นี้ ซึ่งหลักๆ จะมีการปรับปรุงในส่วนที่มีการตั้งสังเกต ซึ่งขสมก.จะใช้ราคาตัวรถจากผลการประมูลครั้งที่แล้ว ที่คันละ 3.55 ล้านบาท ส่วนค่าซ่อมบำรุงเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยจะสรุปTOR ในปลายเดือนม.ค. และเปิดประมูลในก.พ. ทำสัญญาเดือนเม.ย. และเริ่มรับรถในเดือนส.ค.2559
ส่วนนายโกศล สุรโกมล ที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการ LOXLEY กล่าวว่า รถต้นแบบคันนี้บริษัท นำเข้าคลัชซี แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงเบาะนั่ง เกือบทั้งหมดมาประกอบในประเทศ ใช้วัสดุในประเทศไม่ถึง 20% เนื่องจากผลิตแค่ 1 คันเท่านั้นโดยเฉพาะแบตเตอร์รี่ มีคันละ 2 ชุด เป็นต้นทุนหลัก 30-40% ต่อรถ 1 คัน แต่หากมีการผลิตจำนวนมากขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุในประเทศได้ ช่วยลดต้นทุนลงได้อีก