ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมีนาคม 2559 อยู่ในกรอบซบเซา (Bearish) ที่ 73.46 (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0 - 200) ปรับตัวลดลง 17.85% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 89.42 โดยดัชนีรายกลุ่มนักลงทุนปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุด (57.15%) อยู่ที่ 33.33 จนแตะระดับ "ซบเซาอย่างมาก" (Extremely Bearish)
มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศกลุ่มเดียว ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่เกณฑ์ทรงตัว (Neutral) แม้ว่าจะปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 28.03 อยู่ที่ 90.91
หมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการแพทย์ (HELTH)
หมวดอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายเศรษฐกิจ
ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลก การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรอบถัดไป ปัญหาการเมืองและสงครามระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การไหลออกของกระแสเงินทุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ช้าและสถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น
นางวรวรรณ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เรียกเหล่าผู้เชียวชาญ นำโดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เข้ามาหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของดัชนีฯ ที่มีการปรับตัวลดลงในช่วงที่มาจนถึงวันนี้ โดยที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในการจัดการหรือมาตรการต่างๆที่ชัดเจน ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวลักษณะทรงตัวจากนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่ก็มองว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่มีเงินสดในมือที่จะทยอยซื้อ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คาดว่านักลงทุนต่างประเทศก็ยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่แรงขายจะเริ่มเบาบางลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะช่วงที่ผ่านมาต่างชาติเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าจะเหลือเงินเม็ดเงินที่จะขายอีกไม่มากนัก ส่วนที่เหลือคาดจะเป็นเม็ดเงินสำหรับการลงทุนในระยะยาวและมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในโซนเอเซียต่อไป เพราะโซนเอเชีย ยังมีศักยภาพการเติบโตที่มีค่อนข้างสูง โดยกลุ่มประชากร เป็นกลุ่มคนช่วงวัยที่มีความสามารถในการทำงานค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่มีความกังวล คือ เรื่องตลาดพันธบัตร เพราะหากปัจจัยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจจะส่งผลให้มีเงินจำนวนหนึ่งไหลออกจากตลาดพันธบัตรเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันเม็ดเงินต่างชาติบางส่วน ลงทุนในตลาดพันธบัตรอยู่ในระดับที่สูง
ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.5% โดยเครื่องจักรสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป นอกจากนี้ภาคการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญานการฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ภาคส่งออกไทยที่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางมาตรการทางการค้ามากขึ้น เช่น IUU และ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวเลขส่งออกของไทยขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 1.8% จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศเข้ามาทดแทนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มของภาคธุรกิจในปี 2559 มองว่าภาคธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ กลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มค้าปลีก รวมถึงการขนส่ง ซึ่งจะได้รับผลดีจากการค้าขายชายแดนที่ขยายตัวมากขึ้นหลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าสินค้าการเกษตรและเครื่องจักร ผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็ก รวมถึงผู้ผลิตอาหารทะเล เป็นต้น