ด้านผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ ณ สิ้นปี 2558 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 4,250 ล้านบาท คงที่จากปีก่อนหน้า โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากการขยายสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบกับการบริหารต้นทุนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุนการเงินปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามภาวะตลาด รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักเติบโตร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุน จากการออกกองทุนรวมที่หลากหลายในภาวะตลาดที่เอื้ออำนวย
ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์จากธุรกิจประกันยังคงปรับตัวดีขึ้นแม้ในภาวะสินเชื่อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากการตั้งสำรองหนี้สูญให้แก่ลูกหนี้กลุ่มสหวิริยาสตีลอินดัสตรี เต็ม 100% ทั้งจำนวนตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีจำนวน 238,260 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.3 จากปีก่อนหน้า แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อรายย่อยโดยรวมของกลุ่มทิสโก้มีการขยายตัวเพิ่มขั้นจากปีก่อนหน้า แต่ยังคงมีระดับต่ำกว่าการชำระคืนเงินให้สินเชื่อของลูกค้าในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อปรับตัวลดลง ทั้งนี้สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวลงอันเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลย์ของตลาดรถยนต์ภายหลังจากมาตรการรถคันแรก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทั้งสิ้น 2 – 3 ปี นอกจากนี้ ในปี 2558 ยังมีการตัดหนี้สูญของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค (SSI UK) อีกด้วย
ณ สิ้นปี 2558 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.23 จากการจัดชั้นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) (ประเทศไทย) จำนวน 821 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งสำรองเต็มโดยหักหลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้หากไม่รวมลูกหนี้สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) (ประเทศไทย) หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทั้งหมดมีแนวโน้มที่ทรงตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยนั้น เป็นผลมาจากการปรับลดลงของเงินให้สินเชื่อรวม
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สำหรับสิ้นปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 17.9 สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำร้อยละ 8.5 ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 13.9 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ