อันดับเครดิตที่ลดลงสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนตัวลงจากผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทที่ปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญตามแผนการปฏิรูปธุรกิจจะใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ และความผันผวนของราคาน้ำมันด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากสถานะการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการบินของไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดและให้บริการที่มีคุณภาพดี โดยอันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลถือหุ้นในบริษัท 53% โดยผ่านกระทรวงการคลัง 51% และผ่านธนาคารออมสิน 2% ในขณะที่หุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.1% ที่ถือโดยกองทุนวายุภักษ์นั้นจัดเป็นการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนภาคเอกชนแม้ว่ากองทุนวายุภักษ์จะได้รับการจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังก็ตาม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นหรือการสนับสนุนจากรัฐบาลอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งเชื่อว่ารัฐบาลมีการติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิดและจะให้การสนับสนุนที่เข้มแข็งและทันการณ์โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บริษัทเผชิญกับปัญหาด้านการเงิน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวและสร้างผลกำไรในปีที่จะถึงนี้ได้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะลดลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
THAI เป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซียซึ่งให้บริการการบินเต็มรูปแบบและให้บริการสายการบินคุณภาพระดับกลางผ่านบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ “ไทยสมายล์" โดยในเดือนกันยายน 2558 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 63 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวน 667 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 11 แห่ง ด้วยเที่ยวบินจำนวน 441 เที่ยวต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 39.2% ใน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทยด้วย
บริษัทเริ่มโครงการปรับฝูงบินให้ทันสมัยขึ้นในปี 2554 ซึ่งส่งผลให้ต้องใช้งบลงทุนในระดับสูงและต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้สำหรับโครงการดังกล่าว โครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2561 ซึ่งบริษัทยังมีเครื่องบินที่รอรับส่งมอบในระหว่างปี 2559-2561 จำนวน 14 ลำ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ หลายเหตุการณ์ ในขณะที่บริษัทมีความยืดหยุ่นน้อยต่อการปรับปรุงผลการดำเนินการให้ทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากการมีโครงสร้างต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงได้ลดต้นทุนการดำเนินงานลง แต่ก็ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะจากสายการบินต้นทุนต่ำ
ผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงส่งผลให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ซึ่งส่งผลให้ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทลดลง ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 บริษัทจึงเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนซึ่งต้องปรับโครงสร้างภายใต้การช่วยเหลือของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หลังจาก คนร. ได้อนุมัติแผนการปฏิรูปธุรกิจแล้ว บริษัทก็ได้ดำเนินการตามแผนทันทีในเดือนมกราคม 2558 โดยทำการยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร รวมทั้งปลดระวางเครื่องบิน เสนอโครงการเกษียณก่อนกำหนดแก่พนักงาน จำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหลักออกไปซึ่งรวมถึงเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว ตลอดจนปรับโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัท โดยเป้าหมายของแผนปฏิรูปธุรกิจจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการทำกำไรให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการลดต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงยังคงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ในปี 2557 รายได้ของบริษัทลดลง 8.7% เป็น 188,368 ล้านบาทเนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทจนลดลงสู่ระดับ 69.0% ในปี 2557 เมื่อเทียบกับระดับ 74.1% ในปี 2556 ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานจำนวนมากในปี 2557 โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงสู่ระดับ 3.3% ในปี 2557 จาก 9.6% ในปี 2556
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 73.4% อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทยังคงปรับลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 136,412 ล้านบาทเนื่องจากรายได้ผู้โดยสารต่อคนต่อกิโลเมตรปรับตัวลดลง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 7,298 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทไม่สามารถลดต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงได้ตามแผน อัตราการทำกำไรของบริษัทยังคงถูกกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งจำกัดการเพิ่มรายได้ผู้โดยสารต่อคนต่อกิโลเมตร และบริษัทยังไม่สามารถลดต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงได้เร็วอย่างที่ต้องการ
ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยการลงทุนจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มสูงสุดที่ 201,287 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 เทียบกับระดับ 191,852 ล้านบาทในปี 2557 เมื่อประกอบกับผลประกอบการที่ขาดทุนจึงส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 84.4% ในปี 2557 สู่ระดับ 92.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558
สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับอ่อน โดยเงินทุนจากการดำเนินงานปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 19,960 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 2,948 ล้านบาทในปี 2557 และฟื้นตัวเป็น 7,993 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับลดลงจากระดับ 10.7% ในปี 2556 สู่ระดับ 2.2% ในปี 2557 และ 4.4% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558
ส่วนอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายแม้จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 0.7 เท่าในปี 2557 นั้นก็คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0 เท่าในปี 2558 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีเงินสดอยู่ที่ระดับ 28,251 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจำนวน 17,600 ล้านบาท ส่วนในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น บริษัทจะต้องชำระคืนเงินกู้จำนวน 20,551 ล้านบาทและมีภาระเงินกู้ระยะสั้นอีกจำนวน 18,480 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงแหล่งเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และใช้รองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคาดว่าภาครัฐจะยังคงให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทหากบริษัทขาดสภาพคล่อง
ในระหว่างปี 2559-2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในระดับปานกลาง ทั้งนี้ หากบริษัทสามารถปฏิบัติตามแผนปฏิรูปสำเร็จก็จะส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทฟื้นตัวสู่ระดับ 20% และผลักดันให้เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 24,000 ล้านบาทต่อปี อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากบริษัทยังไม่มีแผนในการลดภาระหนี้อย่างอย่างชัดเจน สภาพคล่องของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่สูงกว่าระดับ 10% ส่วนอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นจะอยู่สูงกว่า 2.5 เท่า