อย่างไรก็ตามอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ มีมติเสนอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้ทั้ง 2 บริษัทต้องรับผิดชอบร่วมกัน เนื่องจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายที่ได้รับใบอนุญาตและมีความรับผิดชอบต้องคุ้มครองผู้บริโภคตามสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการตามมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการตามที่ตกลงไว้ในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาไว้ ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตช่องรายการ และได้นำช่องมาให้บริการในลักษณะแพ็คเกจ และเป็นผู้ทำสัญญากับผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการรับสมัครสมาชิก เมื่อเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการให้บริการดังกล่าว จึงสมควรรับผิดชอบตามกฎหมาย
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ยังเสนอให้ กสท. พิจารณาว่าการที่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม บีฯ ให้บริการที่เชื่อมโยงของกลุ่มเครื่องส่งหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงหรือภาพ ในรูปแบบระบบ Z Pay TV เอง ดังนั้นจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์สำหรับให้บริการโครงข่ายจาก กสท. ก่อน รวมทั้งต้องมีการทำสัญญากับผู้ใช้บริการโดยตรง ดังนั้นจึงจะต้องจัดส่งสัญญาการให้บริการให้ กสท. พิจารณา ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ด้วย
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้จากบริษัท จีเอ็มเอ็มแซท จำกัด ที่มาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ บอกว่าขายกล่อง GMMz ไปแล้วประมาณ 4 ล้านกล่อง และประเมินว่ายังมีผู้ใช้บริการกล่องในปัจจบันประมาณ 1 ล้านราย โดยรับชมผ่านระบบ C-band ประมาณ 180 ช่องรายการ Ku-band ประมาณ 80 ช่องรายการ และเพย์ทีวีประมาณ 40 ช่องรายการ ดังนั้นการยุติช่องรายการของ Z Pay TV ครั้งนี้จะกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมาก คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จึงเห็นควรให้ 2 บริษัทต้องชี้แจงมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ทราบโดยทั่วถึงกัน เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การเยียวยาผู้ใช้บริการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Call Center ในการให้บริการข้อมูล และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ผู้ใช้บริการจะไม่สามารถรับชมได้ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้
"ล่าสุดดิฉันได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากในหลายช่องทางว่าไม่สามารถติดต่อ Call Center ที่มีการประชาสัมพันธ์ไว้ได้เลย ดังนั้นจึงต้องนัดหารือกับทั้ง 2 บริษัทนอกรอบว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเสียสิทธิในการรับชมตามที่บริษัทเคยสัญญาไว้"
“ผู้ใช้บริการของ Z Pay TV ที่ได้รับผลกระทบช่วยร้องเรียนมาที่ กสทช. ผ่าน Call center 1200 และดิฉันจะประสานงานกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งสำหรับสมาชิกที่เสียหายและรับไม่ได้กับการยกเลิกบริการนี้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับวาระนี้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เสนอวาระเร่งด่วนเข้า กสท. จันทร์นี้ให้พิจารณาเพื่อหาทางแก้ปัญหาผู้บริโภคเฉพาะหน้าก่อน ส่วนบทลงโทษทางกฏหมายฐานการเอาเปรียบผู้บริโภค อนุฯ จะเสนอเข้า กสท. ต่อไป" นางสาวสุภิญญากล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับการโฆษณา กรณีบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หลังจากที่ กสท. มีมติกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ที่นำบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมาเผยแพร่ออกอากาศซ้ำในหมวดหมู่หรือลำดับบริการอื่น นอกเหนือจากหมวดหมู่บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (Must Carry) จะสามารถโฆษณาบริการหรือสินค้าและบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที และ ตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือไปถึงบริษัททรูฯ แล้ว หากไม่ดำเนินการจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 1,000,000 บาท และปรับอีกวันละ 50,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง และสัปดาห์หน้า (19 มกราคม 2559) คณะอนุกรรมการฯ จะเชิญผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่อยู่นอกมัสแครี่เข้าชี้แจงต่ออนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯด้วย