(เพิ่มเติม) ASIAN ยกร่างแผน 3-5 ปีปรับโครงสร้าง-รีแบรนด์,ลุยเทคฯ-ขยายหลังพลิกฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 18, 2016 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด(ASIAN)มั่นใจกลับคืนสู่สังเวียนธุรกิจ จ้างผู้บริหารชาวเนเธอร์แลนด์วางแผนกลยุทธ์ 3-5 ปี ปรับโครงสร้างธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร เพื่อขยายกิจการและเดินหน้าธุรกิจหลังจากแนวทางการกระจายความเสี่ยงจากที่เคยพึ่งพารายได้หลักจากการแปรรูปกุ้งเห็นผลสำเร็จทำให้ผลดำเนินงานปี 58 พลิกกลับเป็นกำไรจากที่ขาดทุนต่อเนื่องในปี 56-57 จากผลกระทบการระบาดของโรค EMS ขณะที่คาดว่าปีนี้รายได้และกำไรจะเติบโตต่อเนื่อง โดยลุ้นอัตรากำไร(มาร์จิ้น)สูงขึ้นมาใกล้เคียง 2 digit พร้อมเจรจาซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ 3 ราย หวังให้เกิดความรวดเร็วในการขยายธุรกิจ

นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานกรรมการบริการ และกรรมการผู้จัดการ ASIAN กล่าวว่า เบื้องต้นแผนงานในระยะ 3-5 ปี จะแบ่งสายธุรกิจเป็น 4 กลุ่มหลัก จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง(Frozen Food) กลุ่มอาหารสัตว์น้ำ(Feed) กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง(Pet Food) และ กลุ่มค้าส่ง ประเภท Food Distribution

"Pet Food เป็นตัวที่เราจะให้ความสำคัญ เพราะ Frozen ขึ้นอยู่กับตลาดกุ้งเป็นหลัก แต่ Pet Food เป็นสินค้าที่เราสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ในปีนี้เราจะผลักดันให้ทำรายได้สูงขึ้นจากปีที่แล้ว Pet กับทูน่าสร้างรายได้รวมกันประมาณ 2.7 พันล้านบาท จากรายได้รวมประมาณ 8 พันล้านบาท ปีนี้น่าจะทำได้กว่า 3 พันล้านบาท หรือ 70% ของกลุ่มนี้น่าจะมาจาก Pet...ปีที่แล้วลงทุนไปส่วนหนึ่งแล้ว เหลือแค่การเพิ่มเครื่องจักร"นายสมศักดิ์ กล่าว

พร้อมกันนั้นก็จะมีการพิจารณาเปลี่ยนชื่อบริษัทให้เหมาะสมกับโครงสร้างใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อใหม่ เบื้องต้นมีชื่อที่น่าสนใจคือ เอเชี่ยน ฟู๊ด กรุ๊ป หรือ เอเชี่ยน ฟู๊ด คอร์ปอเรชั่น

การจัดกลุ่มธุรกิจใหม่เป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจจากเดิมที่พึ่งพารายได้หลักจากกลุ่ม Frozen โดยเฉพาะสินค้ากุ้งแปรรูป เนื่องจากในช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง(EMS) ทำให้เกิดผลขาดทุนต่อเนื่องในช่วงปี 56-57 แต่หลังจากการปรับตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการจะกลับมาพลิกฟื้นเป็นกำไรในปี 58 โดยทำกำไรต่อเนื่อง 3 ไตรมาสแรก

"เมืองไทยตอนนี้ค่าแรงไม่ถูกแล้ว ยิ่งสินค้ากุ้งมีคู่แข่งเข้ามาเยอะ อินเดีย อินโดนีเซีย ก็เลี้ยงได้ เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ ก็เลี้ยงได้ ทำให้มีมาร์จิ้นต่ำ และกุ้งมีการเก็งกำไรเพราะเป็นสินค้า commodity ทำให้มีความเสี่ยงและมีความผันผวน ปกติมีมาร์จิ้นประมาณ 10% แต่บางช่วงก็ไม่เหลือ เราจึงหันมาทำสินค้าพรีเมียมมากขึ้น"นายสมศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง ASIAN รายงานผลประกอบการปี 56 ขาดทุน 198.67 ล้านบาท และปี 57 ขาดทุน 129.35 ล้านบาท แต่ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้พลิกเป็นกำไรแล้ว 132.49 ล้านบาท

ดังนั้น บริษัทจึงต้องการเดินหน้าแนวทางนี้ต่อไป ซึ่งวิธีการที่บริษัทมองว่าจะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการขยายธุรกิจ คือการซื้อกิจการอื่นเข้ามา โดยขณะนี้ได้เริ่มเจรจากับบริษัทในสหรัฐ 2 รายในธุรกิจ Pet Food ที่ ASIAN มองว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และเป็นสินค้าที่สร้างอัตรากำไรในระดับสูง สามารถพัฒนาภายใต้แบรนด์ที่มีอยู่ให้เข้มแข็งได้ เพราะปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรที่เข้มแข็งอยู่แล้วจากที่ได้ร่วมกับลูกค้าพัฒนาสูตรอาหารแมวและสุนัข เป็นการรับจ้างผลิตส่งให้กับลูกค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก

ขณะที่ธุรกิจ Food Distribution เป็นอีกกลุ่มที่บริษัทมองโอกาสการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะการส่งวัตถุดิบอาหารทะเลป้อนให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 1,600 ร้าน ทำให้บริษัทได้เปิดการเจรจากับบริษัทในประเทศ 1 รายที่ทำธุรกิจดังกล่าวเพื่อเข้าซื้อกิจการ โดยหวังว่าบริษัทจะสามารถนำสินค้าที่ผลิตเองเข้าไปเสริมด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

"เราจะขยายด้วยการเทคโอเวอร์กิจการที่มีประโยชน์กับเราภายใน 3-5 ปี กิจการที่เราจะเข้าไปซื้อ ต้องเป็นกิจการที่มียอดขายอยู่แล้ว มีปริมาณ มีตลาด มีออร์เดอร์พอสมควร ไม่ใช่ซื้อมาแล้วขาดทุน อาจจะเป็นกิจการที่ผู้บริหารรุ่นเก่าเบื่อแล้วไม่อยากทำต่อ เรามองว่า 2-3 บริษัททั้งในอเมริกาและไทย ซึ่งในไทยจะเป็น Whole sell ที่เดิมเราทำอยู่บ้างแล้ว อย่างส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร อย่าง เอ็มเค เราก็จะขยายออกไปอีก"นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจากแนวทางที่บริษัทได้ปรับตัวมาโดยตลอด จะส่งผลดีต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่ารายได้และกำไรของปี 59 จะเติบโตขึ้น แม้ว่ารายได้อาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก แต่บริษัทเชื่อว่ากำไรจะมีอัตราเติบโตที่ดีตามมาร์จิ้นที่คาดว่าจะสูงขึ้นเข้าใกล้ 2 digit และหากธุรกิจกุ้งฟื้นกลับมาก็จะส่งผลบวกต่อบริษัทเพิ่มขึ้น โดยในอดีตปี 51 บริษัทเคยทำรายได้สูงสุดถึง 1.2 หมื่นล้านบาทและมีกำไรราว 300 ล้านบาทก่อนจะมีปัญหาในธุรกิจกุ้ง

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงาน Frozen 3 แห่ง มีสัดส่วนรายได้ราว 40% ของรายได้รวม โรงงานทูน่าและ Pet Food อีก 1 แห่ง สัดส่วนรายได้ราว 40% และโรงงานอาหารสัตว์น้ำทั้งปลา กุ้ง ปู อีก 1 แห่ง มีสัดส่วนรายได้ราว 10% โดยบริษัทเป็นผู้แปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งทั้งภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และรับจ้างผลิต ในหลากหลายรูปแบบสินค้า ตลาดหลักเป็นตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ