"ปกติจะเห็นยอดจองตั๋วหนาแน่นตั้งแต่ต้น ม.ค.ไปจนถึงครึ่งแดือนแรกของ ก.พ.แต่ปีนี้กลับแผ่วลงเพราะภาวะเศรษฐกิจหลายประเทศไม่ค่อยดี ทั้งเศรษฐกิจจีน ยุโรปเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น ออสเตรเลียเศรษฐกิจก็ไมค่อยดี"นายณรงค์ชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงมามาก แต่ไม่ได้เป็นตัวช่วยในการลดต้นทุนให้กับบริษัทได้มากกนัก เพราะมีการแข่งขันสูง ขณะที่บริษัทต้องเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน(Fuel Surcharge) ต่ำลงตามราคาน้ำมัน ทั้งนี้ สัดส่วนต้นทุนน้ำมันในปีนี้คาดว่าจะปรับลงเหลือประมาณ 35% จากปี 58 อยู่ที่เกือบ 40% เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลง ขณะที่ก่อนหน้านี้ต้นทุนน้ำมันอยู่ในสัดส่วนประมาณ 45-50% ของต้นทุนรวม
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงแผนปฏิรูปองค์กรของบริษัทว่า ระยะเวลา 2 ปีคงไม่เพียงพอ และเห็นว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี อาจจะเป็น 3-4 ปี เพราะการบินไทยเป็นองค์กรที่มีปัญหาสะสมมานาน อย่างไรก็ดี ถือว่าดีกว่าสายการบินต่างชาติ อย่างเช่นเมื่อเทียบกับสายการบินแจแปนแอร์ไลน์(JAL) ที่เคยประสบปัญหาก็ต้องเข้าแผนฟื้นฟูถึง 7 ปี หรือสายการบินการูด้าของอินโดนีเซียที่ใช้เวลาถึง 10 ปี
ขณะที่สถานการณ์ของการบินไทยไม่ได้เลวร้ายมาก เพราะยังได้รับปัจจัยบวกที่การท่องเที่ยวไทยขยายตัวได้ดีมาก และประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคได้เปรียบด้านการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ ดังนั้น ระหว่างนี้บริษัทจะมีการปรับกลยุทธ์การขายตั๋วโดยสารให้เชื่อมโยงจุดบิน ยุโรป-กรุงเทพ-จีน, ยุโรป-กรุงเทพ-พม่า หรือ ลาว เป็นต้น เพื่อให้ตอบสนองกับการแข่งขันที่สูงขึ้น