สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 59 ธนาคารได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานไว้ 3 ประการ โดยธนาคารจะเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบในขณะนั้น จากเดิมธนาคารตั้งสำรองหนี้สูญไว้ที่ 109-110% เพื่อเป็นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และการบริหารความเสี่ยง ทั้งในเรื่องของบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรืออัตรดอกเบี้ยอื่นๆ รวมถึงจะไม่เน้นเร่งการเติบโตในแบบที่ไม่สมเหตุ สมผล
ขณะที่แผนการสร้างการเติบโตของธนาคาร ในช่วงที่เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะ Slow down ธนาคารจะยังไม่ตั้งเป้าหมายการเติบโต โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนยอด NPL ในปีนี้ก็มีโอกาสที่จะลดลงมาอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2.5% จาก 2.8-2.9% ในปี 58 ขณะที่จะให้ความสำคัญต่อการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอี , ลูกค้าธุรกิจเวลธ์ และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ รวมถึงจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้าง Customer Insight เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงกับความต้องการ และการลงทุนในฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของบุคคลากร ให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารมีแผนที่จะดำเนินการก่อตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา โดยธนาคารจะเข้าถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินการลงทุนในด้านของห้องแลปดิจิตอลเทคโนโลยี ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 1-1.5% ของกำไรสุทธิ และตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล ใช้เงินลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทแล้วจำนวน 3-4 ราย อย่างไรก็ตามขณะอยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คาดว่าจะชัดเจนได้ภายในไตรมาส 1/59
นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งงบลงทุนไว้ 5-7 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในหุ้น โดยมีความสนใจที่จะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) และลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่สนใจในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 59 จะขยายตัวได้ 3-3.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 , รถไฟทางคู่ เป็นต้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ที่น่าจะเข้ามาช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปได้ แต่หากการลงทุนภาครัฐไม่ได้เกิดขึ้นในปีนี้ อย่างที่คาดหวัง จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยง ธนาคารยังคงกังวลต่อเศรษฐกิจโลก ที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในทุกๆด้าน ทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ,ราคาน้ำมัน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด
“ในปีนี้เรามีความหวังต่อเศรษฐกิจไทย ที่จะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคประชาชนในระดับกลาง-บน ซึ่งทาง SCB ก็มีนโยบายที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะเข้าไปผลักดัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และ e-payment แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกก็ยังเป็นความเสี่ยง ธนาคารจึงมีการวางแผนที่จะเตรียมรับมือ โดยตั้งสำรองหนี้สูญไว้ เพื่อช่วยดูแลลูกค้า ทั้งมูลค่าทรัพย์สิน และสินทรัพย์ ให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ และทางทีมงานก็ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด"นายอาทิตย์ กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ธนาคารยังได้อนุมัติวงเงินให้กับกลุ่มบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) เพื่อวางแบงก์การันตีสำหรับการขอรับใบอนุญาต 4G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งทาง TRUE น่าจะใช้แบงก์การันตีมากกว่า 4 แห่ง แต่อย่างไรก็ตามขอให้เป็นเรื่องของทางบริษัทที่จะออกมาประกาศกลยุทธ์ต่อไป โดยธนาคารมีความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีสื่อสารระบบ 4G เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็น