ส่วนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 10 แห่ง ได้แก่ บ้านพักพนักงานที่ลอนดอน จาการ์ตา โคเปนเฮเกน และสิงคโปร์ (2 แห่ง) รวมถึงสำนักงานขายที่ซิดนีย์ โรม มาดริด ฮ่องกง และปีนัง แม้ว่าส่วนใหญ่การบินไทยจะยังคงทำการบินไปยังเมืองต่างๆ เหล่านี้ แต่ด้วยรูปแบบและลักษณะของสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน อาทิ บ้านพักหรือสำนักงานที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น หรือบ้านพักที่ชำรุดทรุดโทรมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลาในการดูแลรักษา อาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ในย่านที่ไม่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือบ้านพักที่ตั้งอยู่ไกลจากที่ทำงานซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
ทั้งนี้ การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวของบริษัทฯ จะดำเนินการอย่างโปร่งใสเป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของบริษัทฯ โดยเริ่มจากการว่าจ้างผู้ประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์และตัวแทนขาย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้สนใจจะซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยตรงกับบริษัทฯ สามารถกระทำได้ โดยบริษัทฯ จะคำนึงถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสมกับราคาตลาด และมุมมองของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ของบริษัทฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การนำพื้นที่ว่างภายในอาคารสำนักงานของบริษัทฯ ไปให้เช่า หรือการใช้ประโยชน์เต็มที่สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ ได้สำรองไว้ใช้งานในอนาคต
นายจรัมพร กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ให้บริษัททบทวนการรับมอบเครื่งบินใหม่ จำนวน 14 ลำ แบ่งเป็นแอร์บัส A320 จำนวน 12 ลำ เครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 2 ลำ ในช่วง 3 ปี โดยในปี 59 รับมอบเครื่องบินแอร์บัส A350 จำนวน 2 ลำ ในเดือนม.ย.-ก.คนี้ และในปี 60 รับมอบจำนวน 7 ลำ และปี 61 จำนวน 5 ลำ ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยบริษัทเตรียมเจรจากับผู้ผลิตเครื่องบินทั้งสองแห่ง อีกทั้งที่ประชุมให้บริษัทบริหารจัดการตัวแทนจำหน่าย(Agent) ให้ดีขึ้น
ณ สิ้นปี 58 การบินไทยมีฝูงบินจำนวน 95 ลำ
"นโยบายให้หลีกเลี่ยงรับมอบ ไม่ให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มฝูงบิน(Fleet) "นายจรัมพร กล่าว
นายจรัมพร กล่าวว่า ในปี 58 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 ล้านคน จาก 17.7 ล้านคนในปี 57 หรือเติบโต 3.77% และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(cabin factor) ในปี 58 เฉลี่ยที่ 73.3% สูงขึ้นจากปี 57 เฉลี่ยที่ 68.9%
ขณะที่จำนวนเครื่องบินลดลง 13 ลำ จากการปลดระวาง หรือจำนวนที่นั่งลดลงเฉลี่ย 6.2% ในปีที่แล้ว และปิดสถานีบริการในต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ โจฮันเนสเบิร์ก มอสโค มาดริด และ ลอสแองเจลิส ในปี 58 ที่ผ่านมา
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี THAI กล่าวว่า ในการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 59 คาดว่าจะได้เงินประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งจะนำไปลดหนี้สินที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาท และเตรียมจะปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องบินที่รอขายอีกจำนวน 14 ลำ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงมาอย่างมากแต่บริษัทไม่ได้รับผล เพราะปัจจุบันการบินไทยได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน(เฮดจิ้ง) สำหรับปีนี้แล้วในสัดส่วน 45%ของปริมาณการใช้ซึ่งได้ทำไว้เมื่อต้นปี 58 เทียบกับปี 58 ได้ทำเฮดจิ้งไว้ 37% แต่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า และราคาน้ำมันอากาศยาน(JET-A1) มีความผันวนมากเพราะเป็นน้ำมันที่ใช้ตลาดเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ดี ยังมีอีก 55% ที่บริษัทซื้อในราคาสปอต และจะช่วยให้มีกำไรดีขึ้น
"ภาพรวมบริษัทในปี 59 ดีกว่าปี 58 ยอดขายจะดีขึ้น จะทำตลาดที่ไม่เคยมาก่อน Cabin factor จะดีขึ้น รายได้ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายก็คุมให้ดีขึ้น ปีนี้จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น มีกระแสเงินสดดีขึ้น ทำให้หนี้ลดลง หาเงินมาคืนเงินกู้" นายณรงค์ชัย กล่าว