ขณะเดียวกันปีนี้สายการบินไทยสมายล์ จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ320-200 อีก 5 ลำ จากปีก่อนมีจำนวน 15 ลำ รวมแล้วเป็น 20 ลำ ทำให้มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้น รองรับการเปิดจุดบินใหม่ในต่างประเทศ 14 เมือง แบ่งเป็น เส้นทาง 7 เมืองใหม่ เน้นจุดบินในจีน และอยู่ระหว่างเจรจากับทางการอินเดียอีก 2 เมือง ส่วนอีก 7 จุดบินที่ดำเนินการต่อจากสายการบินไทยเคยบินมาก่อน ทั้งนี้จะทำให้สายการบินไทยสมายล์สามารถนำเครื่องบินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น จากชั่วโมงบิน 8 ชั่วโมงต่อวันเป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวัน
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ จำกัด เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ว่า ในปี 59 เป็นปีแรกที่สายการบินไทยสมายล์ขยายจุดบินออกสู่ต่างประเทศอีก 14 เมือง จากปัจจุบันมี 3 จุดบิน จะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทโตเท่าตัวจากปีที่แล้ว ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ 90% เป็นรายได้จากเส้นทางในประเทศ 9 จุดบิน ทั้งนี้ ไทยสมายล์ได้ทยอยเปิดจุดบินที่ทำการบินแทนสายการบินไทยซึ่งเป็นบริษัทแม่ 7 เมือง โดยใช้โค้ดการบินของไทยสมายล์ (WE) ได้แก่ ฉางซา ในจีน เริ่มบิน 6 ม.ค.ที่ผ่านมา, ฉงชิ่งในจีน เริ่มบิน 1 มี.ค.นี้ , ไฮเดอราบัดที่อินเดีย เริ่มบิน 1 มี.ค.นี้, และอีก 4 จุดบินที่จะเริ่มบิน 27 มี.ค.นี้ ได้แก่ เวียงจันทน์ พนมเปญ หลวงพระบาง และปีนัง
ส่วนอีก 7 จุดบินใหม่ ได้แก่ กรุงเทพ-เสียมราฐ(Siem Reap) ประเทศกัมพูชา เริ่มทำการบินในวันที่ 1 ก.พ.นี้ , กรุงเทพ-หนานหนิง และ กรุงเทพ-เจิงโจว ในจีน เริ่มทำการบิน 27 มี.ค. 59 ยังมีอีก 4 เมืองในจีน ที่กำลังอยู่ระหว่างอนุมัติจากทางการจีน โดยวางแผนเปิดบิน 2 เมืองในเดือน ก.ค.59 และ อีก 2 เมืองในเดือน ส.ค. 59
ขณะที่ในตลาดอินเดีย ไทยสมายล์อยู่ระหว่างเจรจาขอใบอนุญาตการบินเข้าไป 2 เมือง ได้แก่ เมืองชานดีการ์ (Chandigarh) ซึ่งอยู่ทางเหนือของอินเดีย และ เมืองอามีดาบัด (Ahmedabad) เป็นเมืองเศรษฐกิจ อยู่ด้านตะวันตกซึ่งติดกับปากีสถาน นอกจากนี้อยู่ระหว่างจัดหาตัวแทนจำหน่ายในอินเดียด้วย
ทั้งนี้ การเปิดตลาดในจีนและอินเดียเน้นนักท่องเที่ยว inbound หรือนักท่องเที่ยวจากสองประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากกว่า ปัจจุบันไทยสมายล์มีเที่ยวบินต่างประเทศ เพียง 3 จุดบิน ได้แก่ มาเก๊า ย่างกุ้ง และ มัณฑะเลย์
นายวรเนติ กล่าวว่า สายการบินไทยสมายล์ จะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ320-200 จำนวน 5 ลำจากสายการบินไทย ในลักษณะเช่าเครื่อง โดยทยอยรับมอบจนครบในเดือนเม.ย.นี้ จะทำให้สายการบินไทยสมายล์มีฝูงบิน 20 ลำในรุ่นเดียวกัน เพิ่มจากสิ้นปี 58 มีจำนวน 15 ลำ โดยบริษัทเลือกที่จะไม่ลงทุนสินทรัพย์ แต่ใช้วิธีการเช่าแทน
ทั้งนี้ การมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้นทำให้สายการบินไทยสมายล์มีจำนวนที่นั่ง (capacity) เพิ่มขึ้นกว่า 100% และการเปิดจุดบินในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากจะช่วยทำให้สายการบินไทยสมายล์ สามารถใช้เครื่องบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมใช้ 8 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มเป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวัน โดยจะบินไปจีน และอินเดียในช่วงกลางคืน
ขณะที่ตลาดในประเทศมีการแข่งขันสูง และเห็นว่าจุดบินประเทศ 9 จังหวัดครอบคลุมแล้ว โดย 3 จังหวัดมีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่น ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต ให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ทั้งนี้เส้นทางในประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีจำนวน 30 เที่ยว/วัน และสนามบินดอนเมือง มีจำนวน 40 เที่ยว/วัน
"มองว่าตลาดในประเทศแข่งขันสูง เราไปหาโอกาสไปขยายที่จีน อินเดีย จีนตอนนี้ถึงจะแผ่วบ้าง แต่ตอนนี้มียอดจองช่วงตรุษจีนเข้ามาแล้วซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะคาดว่าโต 5-6% จากก่อนหน้านี้โต 10% แต่ก็โตจากฐานที่ใหญ่แล้ว"นายวรเนติ กล่าว
*ปี 59 รายได้โตเท่าตัว เริ่มมีกำไร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยสมายล์ คาดว่าปีนี้รายได้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท จากปี 58 ที่คาดรายได้อยู่ที่ 6 พันล้านบาท มาจากจำนวนผู้โดยสารที่ตั้งเป้าปีนี้จะมีจำนวน 3.5 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้โดยสารจากไทย 80% ที่เหลือ 20% เป็นผู้โดยสารจากจีนและยุโรป และปีนี้จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศ โดยคาดว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ยอยู่ที่ 78% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 68% ทั้งนี้ที่ผ่านมา สายการบินไทยสมายล์มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 6% ของรายได้ของ THAI แต่ปีนี้หากรายได้โตตามที่คาดสัดส่วนรายได้ของไทยสมายล์คาดจะเพิ่มเป็น 8% "ตอนนี้ราคาตั๋วขึ้นมาบ้าง 7-8% เพราะปีนี้เรามีเส้นทางต่างประเทศเข้ามา ทำให้มาร์จิ้นดีขึ้น มีรายได้ต่อที่นั่งเพิ่มมา 5-6% เพราะเส้นทางที่เราบินอยู่ในประเทศที่รับต่อจากการบินไทยเป็นเส้นทางที่ขาดทุนอยู่แล้ว เราเข้ามาทำให้การขาดทุนลดลง เส้น domestic แข่งขันสูงมาก แต่คิดว่าปีนี้ราคา domestic น่าจะทรงตัว ในปี 59 เรา expect เริ่มทำกำไรได้ในระดับที่น่าพอใจ" นายวรเนติ กล่าว
โดยในเดือนม.ค.59 คาดว่าจะมี Cabin Factor ประมาณ 73-75% ดีขึ้นกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้ รายได้จากเส้นทางในประเทศกับเส้นทางต่างประเทศ เปลี่ยนสัดส่วนเป็น 50:50 จากปีก่อนมีสัดส่วน 90:10 สอดคล้องปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat-Kilometer: ASK) ขยับสัดส่วนเส้นทางในประเทศกับต่างประเทศ เป็น 50:50 จากปีก่อน 70:30
ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาก ไทยสมายล์ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ เพราะราคาน้ำมันอากาศยานผันผวน โดยต้นปี 58 ราคาอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวลงมา 50% และขณะนี้ราคาเคลื่อนไหวที่ 36-37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
นายวรเนติ กล่าวว่า ในปีนี้เร่งเปิดให้บริการใหม่ และปรับปรุงการบริการด้วย โดยได้เปิดช่องทางการตลาดทุกทาง ล่าสุดเปิด line pay นอกจากนี้สร้าง Network Sale จะมีการเชื่อมโยงกับพันธมิตร ทั้งในจีน อินเดีย ยุโรป
ปัจจุบันมีการขายตั๋วโดยสารผ่านออนไลน์สัดส่วน 50% ส่วนการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย (Agency) สัดส่วน 20% ส่วนที่เหลือ 30% มาจาการขายผ่าน Call Center 1181 ขายผ่าน online travel ซึ่งขณะนี้เจรจาผู้ประกอบการในจีน 2 ราย รวมทั้งขายและจองตั๋วผ่านเคาเตอร์เซอร์วิส ในร้าน 7-11
สายการบินไทยสมายล์ ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสายการบินไทย ซึ่งลดได้ประมาณ 20-25% ซึ่งช่วงต้นๆสายการบินไทยสมายล์ขายตั๋วผ่านช่องทางของการบินไทย และใช้โค้ดการบิน TG ทำการบิน และเมื่อได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการบิน (AOC) เมื่อ 1 เม.ย. 57 จึงเริ่มมาขายเอง และแยกออกมาเป็นบริษัทจากเดิมเป็นเพียงหน่วยธุรกิจของการบินไทย ขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสบินเข้าเมืองเล็กในแถบอาเซียน ได้แก่ เวียงจันทน์ พนมเปญ ย่างกุ้ง โฮจิมินห์ ฮานอย ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เป็น Feeder ให้กับสายการบินไทยที่มีผู้โดยสารจากยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น