ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์มีการเติบโตมากที่สุด ในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) จากกลุ่มลูกค้าสถาบัน เป็นหลัก โดยมี AUM ณ สิ้นปี 2558 สูงถึง 245,035 ล้านบาท เติบโต 130% จากสิ้นปี 2557 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 41.5% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557 สำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 117,643 ล้านบาท เติบโต 6.7 % จากปี 2557 และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 800,401 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวม 71,194 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 57,977 ล้านบาท
นายสมิทธ์ กล่าวว่า การที่บลจ.ไทยพาณิชย์ มีผลการดำเนินงานที่ดีเนื่องจากได้นำเสนอการให้บริการจัดการลงทุนที่ครบวงจร ผ่านกระบวนการลงทุนที่โปร่งใส่ และตรงกับความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้าสถาบันแต่ละราย โดยมุ่งบริหารจัดการสินทรัพย์ให้เกิดผลตอบแทนที่ดีที่สุด อย่างสม่ำเสมอให้กับลูกค้า นอกจากการให้บริการจัดการลงทุนแก่ลูกค้าสถาบัน แล้ว บลจ.ไทยพาณิชย์ ก็ยังคงเน้นให้ความสำคัญของการเสนอกองทุนแก่ ลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญ โดยมุ่งมั่นบริหารให้กองทุนมีผลดำเนินงานที่ดี และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับลูกค้า รวมถึงมีนโยบายออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกลงทุน ที่สอดคล้องกับสภาวะตลาดให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการที่มีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นบริษัทแม่ ซึ่งมีช่องทางจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง พร้อมพนักงานขาย ที่มีใบอนุญาตกว่า 3,500 คน กระจายอยู่ทุกสาขาของธนาคารทั่วประเทศ รวมทั้งความสะดวกรวดเร็วของการซื้อขายกองทุน ผ่าน Internet Banking ของธนาคารไทยพาณิชย์